สุจิตต์ วงษ์เทศ : “งันเฮือนดี” ต้นแบบมหรสพ ในงานศพของไทย

“งันเฮือนดี” พิธีเรียกขวัญคืนร่างคนตายยุคดึกดำบรรพ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีหมอขวัญกับหมอแคนขับลำคำคล้องจองทำนองง่ายๆ เป่าแคนคลอ แล้วฟ้อนประกอบ [ลายสลักบนเครื่องมือสำริด 2 ชิ้น (บน-ล่าง) ขุดพบในหลุมศพที่เวียดนาม]

มหรสพสนุกสนานเฮฮาในงานศพของไทยทุกวันนี้ มีเหตุจากความเชื่อในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้วของคนทุกเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์ว่า คนตาย ขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายออกจากร่าง แล้วหลงทางกลับไม่ได้

ถ้าเรียกขวัญกลับคืนร่างเหมือนเดิม คนก็ฟื้นเป็นปกติ

ดังนั้น เมื่อมีคนตาย เครือญาติพี่น้องทั้งชุมชนจึงตีเกราะเคาะไม้ประโคมฆ้องกลองร้องรำทำเพลงเต้นฟ้อนสนุกสนานเฮฮา ส่งเสียงดังกึกก้องให้ขวัญได้ยิน ขวัญจะได้กลับถูกทางตามเสียงนั้น แล้วคืนร่าง

พบหลักฐานเป็นลายสลักบนขวานสำริด 2 ชิ้น วัฒนธรรมดองซอน อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ฝังรวมกับสิ่งของอื่นๆ ในหลุมศพที่เวียดนาม

ลายสลักเป็นรูปหมอขวัญกับหมอแคนขับลำทำท่าฟ้อน กางแขน ย่อเข่า ก้าวขา เป็นสัญลักษณ์พิธีเรียกขวัญคนตายคืนร่างที่ฝังอยู่นั้น (Victor Goloubew : L” Age du Bronze au Tonkin et dans le Nord-Annam ใน BEFEO : Tom XXIX 1929) คล้ายกับภาชนะเขียนสีรูปขวัญ วัฒนธรรมบ้านเชียง พบในหลุมศพที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี

ทางอีสานเรียกกิจกรรมความเชื่ออย่างนี้ว่า งันเฮือนดี เป็นต้นแบบหรือต้นทางของมหรสพในงานศพของไทย (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง) พบในวรรณกรรมต่างๆ ว่า มีปี่พาทย์, โขนละคร, หนังใหญ่, ลิเก, เสภา ฯลฯ

งันเฮือนดี อีสาน

งันเฮือนดี หมายถึงมีการละเล่นรื่นเริงบนเรือนมีคนตาย (ขวัญไม่ตาย) มีหมอลำหมอแคนเล่นขับลำคลอแคน, มีอ่านหนังสือกาพย์กลอนวรรณกรรม เช่น สินไซ, การะเกด ฯลฯ แล้วมีเล่นต่างๆ เช่น เสือตกถัง ฯลฯ

เฉพาะอีสาน มีคำอธิบายของพระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน) จะคัดมาโดยปรับย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย ดังนี้

“ที่บ้านของผู้ตายนั้นตั้งแต่วันที่ตายไป ตอนกลางคืนมีผู้คนที่รู้จักรักใคร่แลวงศาคณาญาติ พร้อมทั้งเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงมางันกันเรียกว่างันเรือนดี (คือคนมาประชุมช่วยพร้อมกัน) ——-

หญิงสาวชายหนุ่มก็มาพูดหยอกเย้ากันในงารนี้ ผู้ที่เป่าแคนเปนก็เอาแคนมาเป่าเล่นหมอลำ พวกที่อ่านหนังสือเปนก็หาหนังสือเรื่องคำกลอนโบราณมาอ่าน เช่นเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องการะเกษ เหล่านี้เปนต้น

แลมีการเล่นอีกหลายอย่าง เช่นหมากหาบ (หมากแยก) เสือกินหมู (เสือกินวัว) หมากเกิ้งตะเวน (เสือตกถัง) หมากแก้งขี้ช้าง (ทอดไม้) พวกของเล่นเหล่านี้มีชอบเล่นอยู่ในพวกหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าใครแพ้ชนะกันมักมีทุบตีหยอกเย้ากันในหมู่คณะหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าคนที่มีอายุแล้วหันไปฟังหนังสือที่เขาอ่าน

การงันเรือนดีชนิดนี้นับตั้งแต่วันที่ตายไป บางทีมีจนถึงวันนำศพไปเผาหรือฝัง ถ้าเปนผู้ที่ตระกูลเชื้อวงศ์มีบันดาศักดิ์ อย่างมากงันกันตั้งเดือนอย่างน้อยก็ 3 วัน 5 วัน 7 วัน ตามฐานานุรูปของคนพื้นเมือง เมื่อนำศพไปเผาหรือฝังเสร็จแล้ว กลับมาต้องทำบุญเรือน สวดมนต์เย็น 3 วัน รุ่งขึ้นฉันเช้า

ในระหว่าง 3 วัน ที่สวดมนต์นั้น มีงันเรือนดีเหมือนกัน”

[ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 18 ตอนที่ 3 ว่าด้วยประเพณีของชนชาวมณฑลอีสาน โดย พระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน) เรียบเรียง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2469]

งานศพผู้ไท

งานศพมีการละเล่นสนุกเฮฮา เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชนในภูมิภาคอุษาคเนย์

พระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน) อธิบายวิธีจัดการศพผู้ไท (หรือไทดำ, ลาวโซ่ง) จะคัดมาโดยปรับย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย ดังนี้

“ถ้าผู้ตายมีบุตร์เขย ในเวลากลางคืนต้องมีการกระทบสาก วิธีนี้จะเว้นเสียมิได้ คือมีสาก 7 คู่ จับกระทบกันแล้ว ลูกเขยทุกคนเต้นไปตามระหว่างสาก ถ้าเต้นไม่ดีสากถูกขา ถ้าเต้นไม่เปนต้องจ้างคนเต้นแทน ต้องเต้นทุกๆ คืนจนกว่าจะนำศพออกจากบ้าน นอกจากนี้ก็มีหมอลำหมอแคน เล่นกันสนุกสนานครึกครื้นเฮฮา

การนำศพไปเผาหรือฝัง ถ้าเปนผู้มีตระกูลหรือมีทรัพย์สมบัติ มักมีพระสงฆ์นำหน้าศพ และมีสวดอภิธรรมไปตามทาง นอกจากนี้ก็มีหมอลำหมอแคนเล่นกันเฮฮาไปตามทาง”

[ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 18 ตอนที่ 1 ว่าด้วยชนชาติภูไทย และชาติญ่อ โดยพระโพธิวงศาจารย์ (ติสโต อ้วน) เรียบเรียง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2469]

มหรสพในงานศพของไทย

งันเฮือนดีในอีสานและในกลุ่มผู้ไท เป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากชุมชนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว จากนั้นส่งทอดไม่ขาดสายสู่ชุมชนบ้านเมืองปัจจุบัน

นับเป็นต้นทางงานศพของไทยซึ่งพบทั่วไป แต่ที่สำคัญมีในวรรณกรรมราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น อิเหนา, ขุนช้างขุนแผน ดังนี้

อิเหนา

อิเหนา บทละครพระราชนิพนธ์ ร.2 พรรณนาการละเล่นสนุกสนานเฮฮางานพระเมรุที่เมืองหมันหยา ดังนี้

๏ บัดนั้น                            พนักงานการเล่นทุกภาษา
ทั้งหุ่นโขนโรงใหญ่ช่องระทา      มานอนโรงคอยท่าแด่ราตรี
ครั้นพระศพชักมาถึงหน้าเมรุ     ก็โห่ฉาวราวเขนขึ้นอึ่งมี่
ต่างเล่นเต้นรำทำท่วงที            เสียงฆ้องกลองตีทุกโรงงาน

ขุนช้างขุนแผน ตอนงานศพนางวันทอง

ขุนช้างขุนแผน แต่งหลัง ร.2 พระพันวษาสั่งประหารชีวิตนางวันทอง แล้วมีงานศพ มีการละเล่นมหรสพหลายอย่าง คนดูทุกชนชั้นสนุกโลดโผนเฮฮา มีกลอนเสภาพรรณนา ดังนี้

๏ ครั้นแสงสุริยันตะวันเย็น          พนักงานการเล่นทุกภาษา
มาโหมโรงแต่ค่ำย่ำสนธยา           สาละพาเฮโลโห่เกรียวไป
ครั้นรุ่งแสงสุริฉานประมาณโมง     ก็ลงโรงเล่นประชันอยู่หวั่นไหว
โขนละครมอญรำฉ่ำชูใจ              ร้องรับกรับไม้นั้นพร้อมเพรียง
พวกหุ่นเชิดชักยักย้ายท่า             คนเจรจาสองข้างต่างถุ้งเถียง
จำอวดเอาอ้ายค่อมเข้าด้อมเมือง    พูดจาฮาเสียงสนั่นโรง
พวกงิ้วถือล้วนแต่ทวนง้าว            หน้าขาวหน้าแดงแต่งโอ่โถง
บ้างรบรุกคลุกคลีตีตุ้มโมง             บ้างเข้าโรงบ้างออกกลอกหน้าตา
นายแจ้งก็มาเล่นเต้นปรบไก่           ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า
รำแต้แก้ไขกับยายมา                   เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป
เครื่องเล่นพร้อมพรักเป็นหนักหนา   ชาวประชามาดูเดินออกไขว่
ทั้งผู้ดีขี้ข้าและเข็ญใจ                   หลีกหลบกระทบไหล่กันไปมา
พอเพลาพลบค่ำลงรำไร                จึงให้จุดดอกไม้ด้วยหรรษา
ไฟพะเนียงเสียงพลุช่องระทา          พวกหนังเรียกหามาตั้งจอ