‘อ๋อย’ติงรัฐแก้ปมสินบนมั่ว จ้องสกัดนักการเมืองจุ้นรัฐวิสาหกิจ-แต่คสช.ตั้งบอร์ดกันสนุก

(31 ม.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงประเด็นการแก้ปัญหาการรับสินบนจากบริษัทต่างชาติ ในหัวข้อ “สินบนการบินไทย ปตท. กับการแก้ปัญหาที่สะเปะสะปะ” ความว่า

กรณีที่สำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงอังกฤษกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ออกมาระบุว่า บริษัทโรลส์รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานขนาดใหญ่กับบริษัทโรลส์รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม ยอมรับว่าได้จ่ายสินบนให้กับนายหน้าบริษัทการบินไทยฯ และบริษัท ปตท. บริษัทปตท.สผ.และรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งนั้น ความสนใจดูจะพุ่งไปในประเด็นว่า เรื่องเกิดในรัฐบาลใดเป็นอันดับแรก รองลงมาก็เป็นว่ามีนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้อง ถัดไปจึงเป็นคำถามว่าใครเป็นผู้รับสินบนบ้าง

การที่มีการให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองเมื่อไรก็มักเป็นที่สนใจว่าเกิดในรัฐบาลใด ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็ถนัดนักที่จะโบ้ยไปที่รัฐบาลก่อนๆ บางทีเรื่องเกิดในรัฐบาลตัวเองก็บอกว่ารัฐบาลก่อนๆ ไม่เห็นทำอะไร ปล่อยให้ปัญหาตกค้างมาจนทุกวันนี้

ผมไม่ได้คัดค้านการจะค้นหาว่าเรื่องสินบนโรลส์รอยซ์นี้เกิดในรัฐบาลใด ใครรับสินบนหรือเกี่ยวข้องบ้าง ต้องเชียร์ให้ตรวจสอบให้เต็มที่ด้วยซ้ำ ถ้าพบว่าใครทำผิดก็ต้องเอาตัวมาลงโทษให้หมด ถ้าสาวถึงฝ่ายการเมืองไม่ว่าระดับไหน นอกจากลงโทษทางอาญาแล้ว ก็ย่อมต้องมีการรับผิดทางการเมืองด้วย

แต่ผมเป็นห่วงว่าปัญหาที่อาจจะถูกละเลยไปจนทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาแบบนี้ได้จริงและต่อไปก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้อีกโดยง่าย ก็คือ การแก้ปัญหาเชิงระบบซึ่งผู้มีอำนาจปัจจุบันดูจะให้ความสนใจน้อยและอาจจะไม่ค่อยมีความเข้าใจสักเท่าใด

รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งซึ่งเป็นบริษัทมหาชนด้วยนั้น มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ไม่ได้บริหารแบบเอกชนจริง และที่สำคัญมีอำนาจผูกขาดทางธุรกิจอย่างมาก ในระยะหลังๆการบินไทยอาจจะมีอำนาจผูกขาดลดลงบ้าง เพราะมีการแข่งขันมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่ามีอำนาจผูกขาดทางธุรกิจมากอยู่

รัฐวิสาหกิจทั้งหลายนั้นไม่อยู่ใต้การควบคุมของกฎหมายผูกขาดทางการค้า ผูกขาดกันได้ตามสบาย แต่จะว่าไปแล้ว กฎหมายผูกขาดทางการค้าของไทยก็ไม่เคยมีผลทางปฏิบัติใดๆ นั่น ก็เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง พอมีการผูกขาดทางธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอำนาจทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกับรัฐ จะเป็นโดยกฎหมายกำหนดหรือการให้สัมปทานก็ตาม ผลประโยชน์ก็ตามมา หากไม่มีการตรวจสอบที่ดีและไม่โปร่งใส การคอรัปชั่นก็เกิดขึ้นได้ง่ายและมาก

เรื่องเชิงระบบอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง มีการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญบางท่านพบว่ารัฐวิสาหกิจหลายแห่งไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมมปทานส่วนใหญ่ ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทานทางเว็บไซด์

ก็ยังดีอยู่บ้างที่สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ออกมาพูดถึงเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างอยู่บ้าง แต่ที่จะทำบางเรื่องก็ยังเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐวิสาหกิจ และรัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ยังมีกฎหมายของตัวเองเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ฟังแล้วเหมือนจับปูใส่กระด้ง

ส่วนข้อเสนอที่ให้หาทางป้องกันการที่รัฐมนตรีตั้งคนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ดนั้น อาจจะทำได้ด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นบอร์ดให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งความจริงควรจะทำเสียในช่วงที่กำลังจะปฏิรูปกันอยู่นี้ แต่ก็แปลกที่กลับปล่อยให้มีการตั้งบอร์ดแบบไม่มีหลักมีเกณฑ์กันอย่างสนุกสนานมาตลอดในช่วง2-3 ปีมานี้ ก็หนักใจแทนสคร.อยู่เหมือนกันว่าคงจะอธิบายได้ยากว่าในบอร์ดรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ เกือบทุกแห่ง เหตุใดจึงต้องมีตัวแทนคสช.หรือกระทรวงกลาโหมก็ไม่ทราบไปนั่งเป็นกรรมการหรือเป็นประธานกันเป็นแถว ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เลย

“อย่างที่ผมเคยพูดไว้แหละครับ การจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ทำกันอย่างสะเปะสะปะอย่างที่เป็นอยู่นี้” นายจาตุรนต์ ระบุ