แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาลูกค้าน้ำท่วม ธ.ก.ส.ประเมินเกษตรกรเสียหาย 1 ล้านราย

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะโฆษก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.สำรวจเบื้องต้นพบว่ามีเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานประมาณ 1 ล้านคน  ซึ่งธ.ก.ส.มีมาตรการทั้งพักชำระหนี้ 1 รอบปีการผลิต รวมถึงมีวงเงินเตรียมไว้ 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นปล่อยกู้ฉุกเฉิน 5 หมื่นล้านบาทเพื่อปล่อยกู้บรรเทาความเดือดร้อนรายละ 5 หมื่นบาทดอกเบี้ย 0% ช่วง 6 เดือนแรก นอกจากนี้มีวงเงินอีก 5 พันล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ปรับโครงสร้างการผลิต  ซ่อมแซมเครื่องจักรปล่อยกู้รายละ 5 แสนบาทมีระยะเวลาคืนเงินกู้ 15 ปี ดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ย MRR -2% โดยขณะนี้ดอกเบี้ยMRRอยู่ที่ 6.875%

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายได้รับการชดเชยจากโครงการประกันภัยพืชผลอีกไร่ละ 1,260 บาท โดยจะมีการสำรวจพื้นที่หลังน้ำลดว่ามีพื้นที่เสียหายเท่าไหร่ จะมีการชดเชยเบี้ยประกันอย่างไรบ้าง

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ค ดร.อุตตม สาวนายน ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเร่งด่วน โดยระบุว่า นอกจากธ.ก.ส.มีมาตรการช่วยเหลือแล้วธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออก 7 มาตรการเร่งด่วน ภายใต้โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562 กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย , สินเชื่อเพื่อการปลูกสร้างอาคารใหม่หรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย , ประนอมหนี้ ,ลูกหนี้ที่เสียชีวิต-ทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้ และหากอาคารมีความเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ 15,000 บาท และหากประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัยแล้วพบว่าสูงกว่า 15,000 บาท หรือมีน้ำท่วมที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 100 เซนติเมตรขึ้นไป ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท

ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทางเอสเอ็มอี ดี แบงก์ ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือคือ พักชำระหนี้ 6 เดือน และเติมทุนดอกเบี้ยพิเศษ 0.415% ต่อเดือน ใช้หมุนเวียนฟื้นฟูธุรกิจ โดย 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อนและสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท

สำหรับธนาคารกรุงไทยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยสินเชื่อบุคคล โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน และพักชำระดอกเบี้ยอีก 3 เดือน ในเดือนที่ 4-6 ด้านลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Home For Cash ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย นาน 3 เดือน และปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือนที่ 4 – 12

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบ หรือคู่ค้า แหล่งวัตถุดิบ แรงงาน อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ลดดอกเบี้ยลงสูงสุด 1% ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน รวมทั้งพักชำระเงินต้น หรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน และสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่ม เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซม ซื้อสินทรัพย์ถาวร และวัตถุดิบ โดยให้วงเงินกู้เพิ่มสูงสุด 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรก 4% ต่อปี

สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีธนาคารกรุงไทย จะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มในการฟื้นฟูกิจการ ในวงเงินสูงสุดรายละ 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อเดิม ยังลดดอกเบี้ยลงสูงสุด 1% ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน และสามารถพักชำระหนี้หรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า ภายใต้เงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนด

ส่วนของงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ขณะนี้กรมบัญชีกลาง ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของการะทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถนำงบประมาณ มาใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ.2560 ได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน