นักวิทย์ชี้ ดาวเคราะห์น้อย อานุภาพเท่าระเบิดปรมาณูหมื่นลูกพุ่งชนโลก ต้นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธุ์

วันที่ 16 กันยายน 2562 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้เผยแพร่งานศึกษาการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อราว 66 ล้านปีก่อนว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าหายนะครั้งใหญ่นี้เป็นผลจากดาวเคราะห์น้อยที่มีพลังการทำลายล้างเทียบเท่าระเบิดปรมาณูยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 1 หมื่นลูก ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

โดยงานศึกษาถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯหรือ PNAS Journal ระบุผลการศึกษาว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดความกว้าง 12 กิโลเมตร พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลก 75% ต้องสูญพันธุ์ โดยการพุ่งชนทำให้เกิดไฟป่ากินพื้นที่กว่า 900 ไมล์และยังทำให้เกิดคลื่นซึนามิถล่ม ไดโนเสาร์จำนวนมากตายลงในวันนั้น ส่วนสิ่งมีชีวิตอื่นล้มตายหลังเกิดฝุ่นตกค้างในชั้นบรรยากาศ โดยนักวิทยาศาสตร์คิดว่า โลกเย็นตัวลงอย่างช้าๆหลังก๊าซซัลเฟอร์ถูกปลดปล่อยขึ้นชั้นบรรยากาศ ปิดกั้นแสงอาทิตย์และคร่าชีวิต

ศาสตราจารย์ฌอน กูลิค หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า  โดยส่วนตัว เป็นความสำเร็จจากการรวบรวนชิ้นส่วนจากยอดวงแหวนหลุมอุกกาบาตชิซูลับ บนคาบสมุทรยูคาตัน ซึ่งผลของการเขียนข้อเสนอและการวางแผนที่ทำให้เป็นจริงมาหลายปี
“ถือว่าเป็นช่วงเวลาน่าตื่นเต้นมากที่เราพบตะกอนจากผลกระทบของตัวเองเป็นครั้งแรก และยิ่งกว่านั้นเมื่อเราตระหนักว่าเราได้เห็นเหตุการณ์ในรายละเอียดดังกล่าว” ศ.กูลิค กล่าว
ศ.กูลิคกล่าวอีกว่า โครงการวิจัยนำเสนอโอกาสที่ไม่เหมือนใครสำหรับนักธรณีวิทยาในการอ่านบันทึกชั้นหิน ในหลุมอุกกาบาตความลึก 130 เมตร ซึ่งบ่งบอกเหตุการณ์ในวันที่อุกกาบาตพุ่งใส่โลก โดยทุกๆ 1,000 ปี ชั้นหินจะเปลี่ยนแปลงทุก 1 เซนติเมตร
ทั้งนี้ จากการศึกษาคาดการณ์ว่า สารซัลเฟอร์ราว 325 ล้านเมตริกตันถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหลังอุกกาบาตยักษ์พุ่งชน และทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 2.2 องศาฟาเรนไฮต์นานถึง 5 ปี