รมว.อว.ให้ 38 ราชภัฏดูภารกิจหลัก ไม่ตอบเป็น ‘ม.กำกับ-ส่วนราชการ’

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง ได้ศึกษาปัญหา และมีข้อเสนอด้านการบริหารจัดการ มรภ.ของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) โดยประเด็นหลักๆ ขอให้ อว.ชัดเจนว่าจะผลักดัน มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือยังเป็นส่วนราชการ หากให้เป็นส่วนราชการ ขอให้เพิ่มอัตราข้าราชการ รวมถึงขอให้เปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ จากเดิมเป็นแบบรายการ มาเป็นแบบก้อนเหมาจ่ายนั้น ต้องดูในภาพรวม ซึ่งเร็วๆ นี้ จะหารือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ทั้งนี้ โจทย์ของ มรภ.มีความสำคัญกับรากฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตบัณฑิตซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์การมีงานทำในศตวรรณที่ 21 ขณะที่การผลิตครูในปัจจุบันมีโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป คุณภาพของครู และความต้องการที่ตอบโจทย์ในระดับพื้นที่ รวมถึง การที่ มรภ.จะมีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาพิจารณาภาพรวม เพราะบางส่วนเป็นความต้องการของท้องถิ่น บางส่วนเป็นนโยบายจากภาครัฐ

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมีโจทย์ที่สำคัญให้ มรภ.อาทิ การที่ มรภ.จะเข้ามามีส่วนช่วยขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลหลังจากที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนกว่า 14.5 ล้านคนของ มรภ.ทั่วประเทศ และจากจุดนี้จะพัฒนาเพิ่มศักยภาพคนเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้คนมีรายได้น้อย มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนที่จะให้ มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือเป็นส่วนราชการนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้ต้องพูดถึงยุทธศาสตร์ และภารกิจที่เปลี่ยนแปลงก่อน หากยังอยู่แบบเดิมก็ไม่ตอบโจทย์

“ต้องมาดูเรื่องภารกิจกันก่อนว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร มีความคาดหวังอย่างไร จากนั้นค่อยมาคุยกันว่าจากภารกิจนี้ มรภ.จำเป็นจะต้องคล่องตัวหรือไม่ ต้องวัดผลตัวอาจารย์ มรภ.หรือไม่ รวมถึงจำเป็นหรือไม่ที่ยังเป็นส่วนราชการอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาผมให้โจทย์ ทปอ.มรภ.ไปแล้ว โดยให้คลี่ทั้ง 38 แห่งออกมาดูว่ามหาวิทยาลัยใดที่มีปัญหาจริงๆ เท่าที่ทราบมี 3-4 แห่ง ที่เปิดสอนคณะเดียว ต้องดูว่าจะเยียวยาอย่างไร ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ ขณะที่ มรภ.ที่อยู่อันดับท็อป จะดึงขึ้นมาพัฒนาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ที่เหลือค่อยๆ ขยับขึ้นมา เป็นการมองจากภายในว่าจะต้องจัดลำดับชั้นของ มรภ.และดูว่ากลุ่มที่ไม่ไหวจริงๆ จะทำอย่างไร ขณะนี้ยังไม่อยากพูดถึงการยุบรวม แต่กำลังมองภารกิจเป็นหลัก” นายสุวิทย์กล่าว

นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์กล่าวว่า อยากให้ชัดเจนว่าจะให้เป็นส่วนราชการ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หากให้เปลี่ยนสถานภาพก็ต้องคล่องตัว ทั้งงบ และกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องแก้ไข หากไม่แก้ ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้งยังเป็นปัญหา ซึ่งขณะนี้มี มรภ.หลายแห่งเริ่มขยับ สอบถามความคิดเห็นจากบุคลากร เพื่อเตรียมพร้อมเปลี่ยนสถานภาพบ้างแล้ว