“ทิม-โรม” นำทีมอนาคตใหม่ลุยน้ำท่วมอุบลฯ ชงการจัดการน้ำเข้า กมธ.

วันที่ 15 กันยายน 2562 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และนายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ในสัดส่วนภาคอีสาน และนางสาวพรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับอาสาสมัครจากศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมตรวจสอบแนวทางการแก้ปัญหา โดยจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปผลักดันในกลไกคณะกรรมาธิการที่ดิน ที่นายพิธา เป็นประธานคณะกรรมาธิการ

นายพิธา และคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี และการให้ความช่วยเหลือของศูนย์ประสานงานและรับบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมพรรคอนาคตใหม่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนลงเรือเพื่อสำรวจสภาพปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนต่างๆของอำเภอวารินชำราบ พร้อมนำน้ำดื่มและเทียนไขมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

จากนั้น นายพิธาและคณะได้ลงพื้นที่จุดอพยพวัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ ร่วมกับชุมชนทำครัวกลางเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้ประสบภัย ก่อนลงเยี่ยมประชาชนที่ศูนย์อพยพวัดกุดคูน ซึ่งมีผู้อพยพอาศัยอยู่ราว 350 ครอบครัว

นายพิธากล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้นับเป็นภัยภิบัติครั้งประวัติศาสตร์ในจังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำมีความสูงสิบกว่าเมตร มากที่สุดในรอบ 10-20 ปี มากกว่าน้ำท่วมใหญ่ที่สุดของอุบลราชธานีในปี 2545 การมาในพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ตนได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ น้ำอาจจะไม่สามารถระบายได้หมดภายในหนึ่งเดือน เนื่องจากการระบายน้ำจากแม่น้ำมูล-แม่น้ำชีลงแม่น้ำโขงไม่สามารถทำได้ง่าย เพราะเป็นช่วงที่น้ำโขงเริ่มดันกลับ ผู้ได้รับผลกระทบอาจจะต้องอยู่กันแบบนี้ไปอีกประมาณหนึ่งถึงสองเดือนหน่วยงานต่างๆเองก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาในหนึ่งเดือนข้างหน้านี้อย่างไร ช่องทางการสื่อสารระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการก็ยังหาทางออกไม่ได้ ในช่วงนี้คงต้องอาศัยการเยียวยาให้ผู้ประสบภัยสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ก่อน

นายพิธา กล่าวต่อว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะศูนย์ประสานงานของพรรคที่อุบลราชธานีเอง ตลอดจนศูนย์ประสานงานของพรรคทั้งประเทศได้รวมพลังกันเพื่อระดมความช่วยเหลือในรูปแบบของการบริจาคสิ่งของจำเป็นและอาสาสมัคร แต่ในภาพใหญ่ระดับประเทศ ตนเห็นว่าต้องเอาเรื่องนี้เข้าคณะกรรมาธิการที่ดินฯที่ตนเป็นประธานอยู่โดยเร็วที่สุด เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการน้ำทั้งในยามปกติและในยามฉุกเฉิน ซึ่งมีความสอดคล้องกัน เพราะว่าหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำมีทั้งหมด 30 กรมใน 7 กระทรวง ซึ่งจะต้องไปดูว่าหน่วยงานเหล่านี้มีการบริหารจัดการน้ำกันอย่างไร ทั้งก่อนท่วม ระหว่างท่วม และหลังท่วม จะต้องมีการบูรณาการกันในระดับท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆไม่มีการบูรณาการกัน ไม่รู้ว่าจุดที่รับผิดชอบคือใคร การสื่อสารการพยากรณ์ล่วงหน้า และการสื่อสารกับประชาชนก็กระจัดกระจาย กลายเป็นว่าการดูข้อมูลต้องอาศัยข้อมูลจากภาคประชาสังคม ไม่มีศูนย์ข้อมูลและแผนการล่วงหน้า ไม่มีความเชื่อมั่น การช่วยเหลือก็จะกระจัดกระจาย

ดังนั้น ในยามฉุกเฉินเช่นนี้จะใช้รูปแบบเดิมในการบริหารไม่ได้ ระบบการจัดการต้องเปลี่ยนไป ต้องนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งไม่มีทางคลาดเคลื่อนได้ ต้องหาทางศึกษาและหวังว่าจะผลักดันให้กลายเป็นคณะอนุกรรมการในการจัดการน้ำที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ในจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงในจังหวัดอื่นๆ และในอนาคตต่อไป