รัฐบาลปลุกปั้น “โรงไฟฟ้าชุมชน” เสริมรายได้ฐานราก

กระทรวงพลังงานภายใต้การบริหารของสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ นอกจากนโยบายหลักๆ ความมั่นคงด้านพลังงาน อาทิ การจัดหาน้ำมัน การสนับสนุนน้ำมันที่มีส่วนผสมของของพลังงานทดแทน การจัดหาก๊าซ ทั้งการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ ที่ต้นทุนเหมาะสม

ถือเป็นนโยบายรูทีนทำกันทุกรัฐบาล

แต่ในยุคของรัฐมนตรีสนธิรัตน์ ยังชูนโยบาย “พลังงานเพื่อทุกคน” หรือเอ็นเนอร์ยี่ ฟอร์ ออลล์ ต้องการให้เรื่องพลังงานเข้าถึงประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ผ่านนโยบายการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศ เน้นเชื้อเพลิงที่หาได้ในพื้นที่ กลุ่มพืชพลังงาน ชีวมวลต่างๆ หญ้าเนเปียร์ และพลังงานจากแสงอาทิตย์

ต่างจากที่ผ่านมา ภาคพลังงานมักถูกโยงกับกลุ่มทุนเอกชน ประชาชนฐานรากยังขาดความเข้าใจเรื่องพลังงานอย่างมาก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชุมชนส่วนใหญ่แสดงความต่อต้าน หากมีโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเชื้อเพลิงใดมาตั้งใกล้บ้าน

หลักคิดของสนธิรัตน์ยังเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ด้วยการติดแฮชแท็กพลังงานเพื่อทุกคน แฮชแท็กพลังงานขับเคลื่อน และยังเตรียมเปิดคำโดนๆ ที่เชื่อมกับชื่อตัวเอง อย่างแฮชแท็กสนปะล่ะ แฮชแท็กสนมั้ย แฮชแท็กสนปะล่ะพลังงานโซลาร์เพื่อชุมชน ซึ่งทั้งหมดก็สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชาวบ้านทั่วไป เพราะฟังแล้วเข้าใจง่าย

เป็นการเดินงานที่หวังทั้งความมั่นคงทางพลังงาน และคะแนนนิยมจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อนๆ เข้าถึงค่อนข้างน้อย

ขณะเดียวกันนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน ยังสอดรับกับแผนงานกระทรวงพลังงานที่ กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ต้องการให้เรื่องพลังงานเข้าถึงประชาชนระดับชุมชนมากขึ้น ผ่านกลไกการสนับสนุนจากพลังงานจังหวัดที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน รวมถึงการใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีเงินหลักหมื่นล้านบาทต่อปี เป็นเครื่องมือสนับสนุน อาทิ โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แทนการใช้น้ำมันที่เป็นต้นทุนของเกษตรกรโดยตรง

เมื่อนโยบายคลิกกัน กระทรวงพลังงานจึงเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยโจทย์สำคัญนอกจากความพร้อมชุมชน และการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ยังต้องมีความพร้อมเรื่องสายส่ง เชื้อเพลิงที่จะใช้ผลิตไฟฟ้า และเอกชนหรือหน่วยงานผู้ลงทุนหลักร่วมกับชุมชน

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงพลังงานร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอนาคต ภารกิจหนึ่งในนั้น คือ รองรับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชุมชน รวมทั้งหารือถึงแนวทางการนำนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (แซนด์บ็อกซ์) ซึ่ง กกพ.กำลังศึกษา

ขณะเดียวกันปลัดกระทรวงพลังงานยังหารือกับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการลงทุนโรงไฟฟ้าร่วมกับชุมชน รวมถึงให้ความเชื่อมั่นในการสนับสนุนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเตรียมปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ 20 ปี (พีดีพี 2018) ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าช่วง 8 ปีจากนี้ เนื่องจากพีดีพีปัจจุบันเน้นรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) เป็นหลัก กำหนดปริมาณไฟฟ้าสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ จากปริมาณไฟฟ้ารวมตามเป้าหมายพีดีพีอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์

ปลายเดือนสิงหาคม องค์ประกอบของโรงไฟฟ้าชุมชน มีความคืบหน้าไปมาก กระทรวงพลังงานจึงนำนโยบายนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เห็นชอบในกรอบ จากนั้นได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการประชุม กพช.นัดแรกของรัฐบาลชุดนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กันยายน กพช.นัดแรกได้เห็นชอบแนว ทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนที่เน้นใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงการผลิตแล้ว

สนธิรัตน์ระบุว่า กพช.ได้มอบให้ กบง.พิจารณารายละเอียดในการส่งเสริม อาทิ ราคาซื้อไฟส่วนเกิน พื้นที่และขนาดโรงไฟฟ้าระบบส่งที่พร้อมรับ คาดว่าจะสรุปรายละเอียดใน 1-2 เดือน มีเป้าหมายเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 รูปแบบการลงทุนกำลังพิจารณา ดึงชุมชนให้มีส่วนร่วม มีภาคเอกชน รวมถึงให้บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้ามาร่วมดำเนินการเพื่อให้โรงไฟฟ้าอยู่ได้ในระยะยาว

“ลำพังชุมชนคงไม่สามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าได้เอง ขณะเดียวกันจะดึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าสนับสนุนด้วย” สนธิรัตน์ระบุ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังเน้นย้ำถึงนโยบายนี้ว่า เป็นโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องการให้ชุมชนมีรายได้ด้วยการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และลดภาระรายจ่าย สร้างอาชีพให้ชุมชนในการใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง โดยหลักการจะเน้นผลิตเพื่อใช้เองโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพ อาทิ บนเกาะ ภูเขา เพื่อลดการลงทุนสายส่ง ส่วนเชื้อเพลิงอาจจะเป็นรูปแบบผสมผสานหรือไฮบริด ต้องรอรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ สนธิรัตน์ยังระบุว่า กระทรวงพลังงานรายงาน กพช.ถึงเป้าหมายต่อไปของนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน นั่นคือ นโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในระดับครัวเรือนจากโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเตรียมทบทวนหลักเกณฑ์โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้จูงใจมากขึ้น เนื่องจากโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ปี 2562 จำนวน 100 เมกะวัตต์ไม่ประสบความสำเร็จ

“โครงการไม่ถึงเป้าหมาย เพราะขาดแรงจูงใจให้ประชาชนติดตั้ง ประชาชนมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นต้องเรื่องความคุ้มทุน และดูว่าหลังติดตั้งแล้วจะเก็บและขายได้อย่างไร ดังนั้นหลังจากนี้ต้องพิจารณาเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน หรืออีเอสเอส การซื้อขายกันเองผ่านบล็อกเชน อย่างไรก็ตามราคารับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนที่ไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะ 10 ปีนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะต้องมาทบทวนเช่นกัน โดยจะดำเนินให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้” สนธิรัตน์ทิ้งท้าย

ล่าสุดรายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า จากการพิจารณาความพร้อมสายส่ง ภายในปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน 3-4 แห่ง กระจายทั่วประเทศ เชื้อเพลิงจะกระจายทั้งชีวมวล หญ้าเนเปียร์ และแสงอาทิตย์ ส่วนจะชัดเจนอย่างไรต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้แถลง

ชุมชนใดจะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านำร่อง รอติดตาม…