อดีตขุนคลังชี้ ทำได้! อภิปรายปมถวายสัตย์ฯ เน้นซักถามเพื่อความกระจ่างให้ประชาชน

วันที่ 13 กันยายน 2562 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงเห็นต่อประเด็นการอภิปรายเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งชุด แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและมีมติเป็นเอกฉันท์ที่ไม่รับคำร้อง อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามที่จะหยิบยกมาอภิปรายเรื่องนี้ในรัฐสภาและสมาชิกสภาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภา

โดยนายธีระชัยมองว่า มีผู้วิเคราะห์ว่า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง พร้อมมีคำวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่า ไม่มีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบเรื่องนี้ได้ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ปมถวายสัตย์ในสภา จึงอาจทำไม่ได้

เพราะถ้อยความในญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านระบุว่า ฝ่ายค้านต้องการตรวจสอบทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน จะทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ และนำไปสู่ความไม่ชอบของคณะรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ และเป็นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผมมีความเห็นว่ายังอภิปรายได้

ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลที่ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาว่า “เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์”

มาตรา ๑๕๒ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได

มาตรา ๒๑๐ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
(๒) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา
คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
(๓) หน้าที่และอํานาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เห็นได้ว่า มาตรา 152 ไม่บังคับใช้เฉพาะกรณีจะตรวจสอบว่า มีผลกระทบต่อคณะรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ หรือไม่ หรือว่าการกระทำใดเป็นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่

แต่สามารถซักถามข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นที่กระจ่างแก่ประชาชนได้

เพราะการถวายสัตย์ตามมาตรา 161 นั้นมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นการปฏิญาณความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

แต่สำหรับส่วนที่สอง ที่กล่าวว่าจะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ นั้น เป็นการผูกพันทั้งต่อพระมหากษัตริย์และต่อประชาชน

ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงยังมีหน้าที่ตรวจสอบทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน จะทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ และนำไปสู่ความไม่ชอบของคณะรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ หรือไม่?

โดยต้องเน้นในแง่มุมด้านของประชาชน