วีระ สงสัยรบ.ไทยไปแลกอะไรกับญีปุ่นหรือไม่ จวก ทุ่มเทช่วย“รองอธิบดี”แค่ไม่อยากขายหน้า

(28 ม.ค.) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) แสดงความเห็นถึงกรณีที่นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมตัวในคดีลักทรัพย์ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดทางอัยการญี่ปุ่นมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายสุภัฒแล้ว เพราะเห็นว่าไม่ใช่คดีร้ายแรง เป็นการลักทรัพย์ที่ไม่ได้วางแผนไตร่ตรองไว้ก่อน และไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น

โดยนายวีระกล่าวว่า “เป็นไปได้อย่างไร อย่างกับดูหนังคนละเรื่องเดียวกันเลย กรณีของนายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปขโมยภาพเขียนจากโรงแรมในนครเกียวโต มีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามกฎหมายอาญาของญี่ปุ่น มาตรา 235 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 เยน โดยเป็นความผิดอันยอมความมิได้ ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์ ตามกฎหมายของไทยก็ไม่ต่างจากกฎหมายของญี่ปุ่นแต่อย่างใด ที่สำคัญคือ เป็นการกระทำความผิดที่ยอมความไม่ได้เหมือนกัน ถึงแม้ผู้กระทำความผิดจะยอมรับสารภาพ และยอมชดใช้ความเสียหายก็ตาม ตำรวจและอัยการจะยอมความเองไม่ได้ จะปล่อยผู้กระทำความผิด โดยไม่ทำการยื่นฟ้องต่อศาลไม่ได้ อัยการต้องสรุปสำนวนส่งฟ้องต่อศาล ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินว่าจะลงโทษอย่างไรต่อไป”
และว่า “แต่จากข่าวเมื่อหัวค่ำวันที่ 27 มกราคม 2560 มีการเผยแพร่ข่าวว่า ญี่ปุ่นได้ปล่อยตัวรองอธิบดีสุพัฒน์ แล้ว ตำรวจและอัยการชี้คดีเล็กน้อย ไม่สร้างความเสียหายผู้อื่น (มันจะไม่สร้างความเสียหายผู้อื่นได้อย่างไร เจ้าทรัพย์คือผู้เสียหาย ถ้าเขาไม่เสียหาย แล้วเขาจะแจ้งตำรวจญี่ปุ่นให้มาจับนายสสุภัฒ ทำไม ตำรวจญี่ปุ่นพูดออกมาเช่นนี้ได้อย่างไร) ตามข่าวแจ้งว่า “สาเหตุที่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากนายสุภัตได้สารภาพ และกล่าวขอโทษต่อทางโรงแรมอย่างจริงใจ ทำให้ทางโรงแรมยอมความ ประกอบกับอัยการและตำรวจเห็นว่าเป็นคดีเล็กน้อยที่ไม่ได้วางแผนไตร่ตรองไว้ก่อน”

นายวีระกล่าวต่อว่า “โลกนี้มันชักจะอยู่ยากขึ้นทุกวัน ทั้งไทยทั้งญี่ปุ่นมันจะเหมือนกันเข้าไปทุกที กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิอีกต่อไป กฎหมายอาญา มาตรา 235 ของญี่ปุ่น ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ในกรณีการกระทำความผิดของนายสุภัฒ รองอธิบดีฯ ของไทย ตำรวจและอัยการของญี่ปุ่นกลับยอมความให้ได้ แถมยังให้ความเห็นว่า เป็นคดีเล็กน้อยที่ไม่ได้วางแผนไตร่ตรองไว้ก่อน”

และว่า “ทั้งที่การขโมยหรือการลักทรัพย์มันไม่มีองค์ประกอบนี้ในการกระทำความผิด องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ มันมีเพียง 2 องค์ประกอบ คือ 1. องค์ประกอบภายนอก คือมีการกระทำสำเร็จ เอาทรัพย์นั้นเคลื่อนออกไปแล้วจากที่ของมัน ไปซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเดินทางของนายสุภัตเรียบร้อยแล้ว 2. องค์ประกอบภายใน คือมีเจตนาขโมยหรือเจตนาต้องการทรัพย์นั้น ซึ่งนายสุภัต เองก็ยอมรับสารภาพแต่โดยดีว่าขโมยรูปไปจริง รับสารภาพแล้วว่ามีเจตนาเอารูปไปจริง มันก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จะมาบอกว่าไม่มีความผิดไม่ได้ มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่ากฎหมายถูกเลือกปฏิบัติ”

“ถ้าหากผู้กระทำความผิดไม่ใช่นายสุภัต ไม่มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นรองอธิบดีฯของไทย แต่เป็นคนไทยจนๆที่ไปทำงานรับจ้างในญี่ปุ่น แล้วไปขโมยของนายจ้าง จนถูกจับได้ นอกจากนี้ยังไม่มีเงินไปชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายจ้าง ที่สำคัญรัฐบาลไทย ปล่อยให้ญี่ปุ่นดำเนินคดีไปตามกฎหมาย อยากจะรู้เหมือนกันว่าทางตำรวจและอัยการของญี่ปุ่นจะยอมปล่อยตัวง่ายๆ โดยบอกว่าเป็นคดีเล็กน้อย ไม่ก่อความเสียหายผู้อื่น และไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่?” นายวีระกล่าว

และว่า “ตามความเห็นของผม ทางรัฐบาลไทยคงต้องใช้วิธี หรือต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องยอมปล่อยตัวนายสุภัฒ ทั้งๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่น ทราบดีว่าจะเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นลงอย่างสิ้นเชิง มันต้องมีอะไรไปแลกเปลี่ยนอย่างแน่นอน คงเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชน มิฉะนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นคงไม่ยอมทำลายกระบวนการยุติธรรมของตนเองเช่นนี้”

นายวีระะกล่าวทิ้งท้ายง่า “รัฐบาลไทยยอมทุ่มเททุกอย่าง เพื่อช่วยนายสุภัฒ เพื่ออะไรกันแน่ เพียงเพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาล คสช.ไปขโมยของ จนถูกตัดสินจำคุกในต่างแดนเท่านั้นหรือ? กลัวจะเสียหน้า หรือกลัวว่าจะถูกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนความโปร่งใสในปี 2560 นี้ต่ำลงไปอีกใช่ไหม? หรือว่ามีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง

แต่ไม่เป็นไร สักวันหนึ่งความจริงก็ต้องปรากฎ จากนี้ไปกรณีเช่นนี้ จะเป็นข้ออ้าง หรือจะใช้เป็นบรรทัดฐานให้คนมีเงินมีอำนาจนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อใดที่คนส่วนใหญ่ไม่เคารพกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายไม่มีศักดิ์สิทธิ์ การฝ่าฝืนกฎหมายและการกระทำความผิด ก็จะเกิดขึ้นทุกย่อมหญ้า กลายเป็นสังคมกลียุคในที่สุด”