8 ส.ส.ชาติไทยพัฒนา เอาด้วย ยื่นญัตติศึกษาแก้รธน. ยกโมเดล40 ใช้ปชช.ยึดเป็นหลัก

8 ส.ส.ชาติไทยพัฒนา ยื่นญัตติศึกษาแก้รธน. ยกโมเดล 2540 ใช้ประชาชนเป็นมาสเตอร์คีย์ รื้อทิ้งฉบับค่ายกลเจ็ดดาว

เมื่อ‪วันที่ 11 กันยายน‬ ที่รัฐสภา เกียกกาย 8 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)ร่วมกันเข้ายื่นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาแนวาทงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ยกเว้น 2 คนคือ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานะเป็นฝ่ายบริหาร โดยนายนิกร แถลงว่า รัฐธรรมนูนี้บังคับใช้กว่า 2 ปี พบปัญหาหลายประเด็น ถูกวิจารณ์ถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่ยังขาดการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นในฐานะที่ชทพ. โดยในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ มีประสบการณ์ผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จึงเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดซับซ้อนและติดล็อคอยู่ 7 ชั้น ควรใช้แนวทางของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการฯ มาศึกษาแนวทางแก้ไข เบื้องต้นเสนอว่า ต้องใช้การรับฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ตั้งธง หรือ ประเด็นที่จะแก้ไขไว้

“รัฐธรรมนูญ ปี 2539 ที่ผมร่วมศึกษา แม้ขณะนั้นการปลดล็อคเพียงมาตราเดียวก็สามารถตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยังถือว่ายากมาก ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีขั้นตอนระบุไว้หลายชั้น และกำกับด้วยการให้ส.ว.ร่วมยอมรับด้วย จึงถือว่ายากมาก ดังนั้นข้อเสนอที่ให้รับฟังความเห็นประชาชน ถือเป็นมาสเตอร์คีย์ที่จะปลดล็อคค่ายกลเจ็ดดาวในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ลงได้ ส่วนที่หลายพรรคการเมืองเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกลไกที่เคยใช้ ตอนปี 2540 เห็นว่าเป็นเรื่องดี แต่ในขั้นตอนนี้ควรเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายว่าต้องการแก้ไขประเด็นใดอย่างไรบ้าง ส่วนตัวเห็นว่าการรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นส่ิงที่ต้องทำ แต่เมื่อมีสภาฯ แล้ว ทุกพรรคอยู่ในสภาฯ ควร ใช้กลไกของสภาฯ ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว” นายนิกร กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า ญัตติดังกล่าว คงไม่ทันในสมัยประชุมนี้แล้ว เชื่อว่า จะพิจารณาสมัยหน้า อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นที่ต้องตั้งกมธ.ร่วมกันของรัฐสภา เพื่อดึงส.ว. เข้ามามีส่วนร่วม