อุุตุฯยุคไฮเทค ดึงเทคโน-บิ๊กดาต้า เพิ่มความแม่นยำ

อุุตุฯยุคไฮเทค ดึงเทคโน-บิ๊กดาต้า เพิ่มความแม่นยำ

ในอดีตที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาŽอาศัยเทคโนโลยีในการพยากรณ์อากาศ อาทิ เครื่องพล็อตแผนที่อากาศอัตโนมัติ, การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นระดับต่างๆ, เสาบรรทัดวัดระดับน้ำ, การตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการบิน และบัลลูนตรวจอากาศชั้นบน โดยผ่านการตรวจวัดข้อมูลด้วยระบบแมนนวล หรือการทำมือ จากแรงงานผู้ชำนาญการ

ในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและพัฒนาไปมาก กรมอุตุนิยมวิทยาŽ จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศ เช่น แผนที่อากาศผิวพื้น, ภาพถ่ายดาวเทียม และภาพเรดาร์ตรวจอากาศ เป็นต้น อีกทั้งมีการใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) อาทิ แหล่งข้อมูลขนาดใหญ่, ข้อมูลที่ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และข้อมูลที่มีความหลากหลาย รวมถึงมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในระบบตรวจวัดลมชื่อเขื่อนและระบบตรวจวัดอัตโนมัติเพื่อการบิน, เครื่องเตือนภัยการเจ็บป่วยอันเนื่องจากความร้อน และเครื่องวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายและการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงจากศูนย์พยากรณ์อากาศในประเทศสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งทั้งการปรับใช้เทคโนโลยีและการมีเครือข่ายและการเชื่อมโยงข้อมูล ทำให้ภาพรวมในช่วง 3 ปี (2561-2562) การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 ความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศ อยู่ที่ 84.83% ปี 2561 อยู่ที่ 87.83% และปี 2562 อยู่ที่ 88.81% ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่อยู่ที่ 75%

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่า ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่กรมอุตุนิยมวิทยามีอยู่ มีความพร้อมที่จะรองรับการพยากรณ์อากาศด้วยความแม่นยำ และจากการหารือร่วมกัน กระทรวงดีอีได้มีแนวทางในการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งระบบตรวจวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติเพิ่มเติมจากศูนย์พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีอยู่ 120 สถานี ใน 77 จังหวัด ซึ่งเชื่อว่าหากมีการจัดตั้งระบบตรวจวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติมากขึ้นจะทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำขึ้นถึง 90% ได้ ทั้งสามารถพยากรณ์อากาศได้ลึกลงไปในพื้นที่ระดับตำบลได้
สำหรับการจัดตั้งระบบตรวจวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติคาดว่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์อากาศอยู่มาก ฉะนั้น จึงให้กรมอุตุนิยมวิทยาเสนอแผนในการของบประมาณประจำปี 2563 เข้ามาอีกครั้ง เนื่องจากการเสนอแผนเพื่องบประมาณก่อนหน้านี้ไม่ได้ระบุงบประมาณในการจัดตั้งระบบตรวจวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติดังกล่าวŽ พุทธิพงษ์ระบุ

ปัจจุบันการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาจะครอบคลุมใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การพยากรณ์อากาศแบบทั่วไปที่จะทำให้เกิดความแม่นยำเพิ่มขึ้น 2.การพยากรณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งส่วนใหญ่จะกระทบกับจังหวัดที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย และ 3.การพยากรณ์อากาศทางทะเลในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจากนี้จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถคาดการณ์การเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ในทุกระดับ ทำให้ประชาชนสามารถเฝ้าระวังได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ จะมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชน ได้แก่ 1.การฝึกอบรมพื้นฐานความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา โดยเกษตรกรจะได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ, การอ่านแผนที่อากาศและการประยุกต์ใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศ 2.เก็บข้อมูลการเพาะปลูกในพื้นที่ โดยนักวิจัยและเกษตรกรร่วมกันเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกในแต่ละฤดูกาล 3.สถานีตรวจวัดข้อมูลอากาศเพื่อการเกษตร โดยเกษตรกรจะได้เรียนรู้เครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศชนิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการเกษตร 4.แบบจำลองการเจริญเติบโตของพืชภายใต้สภาพอากาศท้องถิ่น และ 5.ศูนย์เรียนรู้อากาศภาคสนามอัจฉริยะ โดยการเชื่อมโยงการพยากรณ์อากาศจากส่วนกลางสูตรท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบการเรียนรู้ภูมิอากาศภาคสนามสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

”การพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการดำเนินชีวิต รวมถึงการวางแผนการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตรได้ ซึ่งหากกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ จะทำให้เกษตรกรมีการวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้าได้ ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้ เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และแม้จะมีสภาพอากาศที่อยู่เหนือความคาดหมายก็จะเกิดผลกระทบที่ไม่มากนัก เพราะสามารถเฝ้าระวังได้อย่างทันท่วงทีŽ” พุทธิพงษ์ระบุ

และจากข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์โดยกรมอุตุนิยมวิทยา มีการประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมชลประทาน, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, สายการบินต่างๆ, การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, หน่วยบินสำหรับภารกิจพิเศษ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพายุแล้วจำนวน 4 ลูก ได้แก่ พายุปาบึก (2-5 มกราคม), พายุวิภา (2-5 สิงหาคม 2562), พายุโพดุล (29-31 สิงหาคม) และพายุคาจิกิ (2-3 กันยายน) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้เตรียมความพร้อมรับมือและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่ 1.การจัดตั้งศูนย์บัญชาการ 2.การระดมผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตุนิยมวิทยาและฝ่ายสนับสนุน 3.เปิดช่องทางให้ส่วนภูมิภาครายงานสถานการณ์พายุผ่านระบบ 4.ใช้ทั้งเครื่องมือหลักและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อติดตามสถานการณ์พายุ และ 5.มีการออกประกาศเตือนภัย ผลิตสื่อในรูปแบบวีดิทัศน์และจัดทำอินโฟกราฟิก

ขณะที่ ภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า การพยากรณ์อากาศในประเทศไทย ที่อยู่ในพื้นที่เขตร้อน มีความยากกว่าการพยากรณ์อากาศประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตหนาวอย่างประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในฤดูฝน และตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูหนาว ที่มีความแปรปรวน ฉะนั้นการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำในระดับที่เกินกว่าค่ามาตรฐานจึงเป็นค่าที่น่าพึงพอใจอย่างมาก

”ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้เสนอแผนเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 จำนวน 3,000 ล้านบาท แต่เบื้องต้นได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท โดยจากนี้จะเร่งจัดทำแผนเพื่อเสนอของบประมาณในการจัดตั้งระบบตรวจวัดอากาศภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยสนับสนุนความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่มขึ้นŽ” ภูเวียงกล่าว

ถือเป็นการปรับองค์กรกรมอุตุฯ ในยุคใหม่ ที่สามารถดึงเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำนายสภาพภูมิอากาศให้แม่นยำยิ่งขึ้น

มติชนออนไลน์