‘คุณหญิงกัลยา’ ตั้ง กก.สางปัญหา ‘สมศ.’ หวังพัฒนาสู่องค์กรยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

‘คุณหญิงกัลยา’ ตั้ง กก.สางปัญหา ‘สมศ.’ หวังพัฒนาสู่องค์กรยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

เมื่อวันที่ 6 กันยายน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ไปตรวจเยี่ยม สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์การมหาชน) โดยได้มอบนโยบายและรับฟังปัญหาของ สมศ. ซึ่งจุดประสงค์ในการตั้ง สมศ.คือ เป็นหน่วยงานที่ประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับของประเทศให้ดีและถูกต้องที่สุด แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้กำกับดูแล สมศ. โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้ง สมศ. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ที่ให้ สมศ.มาอยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จากเดิมที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และต่อมามีกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 โดยยกเลิกระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 ซึ่งให้การประเมินคุณภาพภายนอกเป็นไปด้วยความสมัครใจของสถานศึกษา ขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่ง ทุก 5 ปี ผลของกฎกระทรวงดังกล่าว ทำให้เกิดความลักลั่น การทำงานของ สมศ. จึงไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น และเกิดความลังเลในการทำงานของหลายหน่วยงาน

“การประเมินคุณภาพตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ เมื่อสถานศึกษาส่งผลการประเมินตนเองมาที่ต้นสังกัด ต้นสังกัดของสถานศึกษาก็จะกลั่นกรองและอาจจะคัดเลือกเฉพาะสถานศึกษาที่ได้ผลการประเมินในระดับดีมาที่ สมศ. เพื่อให้ทำการวิเคราะห์เบื้องต้น ก่อนส่งผู้ประเมินคุณภาพภายนอกลงพื้นที่ก็ได้ เช่น สถานศึกษาครบกำหนดประเมิน 4,000 แห่ง สถานศึกษาประเมินตนเองส่งมาที่ต้นสังกัดเพียง 2,000 แห่ง แต่ต้นสังกัดส่งมาให้ สมศ. 1,000 แห่ง เป็นต้น เมื่อเลือกโรงเรียนที่ดีๆ มาให้ประเมิน ก็ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การประเมินคุณภาพภายนอกที่เราอยากประเมินเพื่อช่วยพัฒนาสถานศึกษา” คุณหญิงกัลยา กล่าว

คุณหญิงกัลยากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ.ไปอยู่กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะประเมินตนเองหรือไปจ้างหน่วยงานภายนอกมาประเมินก็ได้ ดังนั้นในจุดนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน เพราะความจริงแล้ว สมศ.ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมหาวิทยาลัย อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ซึ่งไม่ทราบว่าการประเมินคุณภาพจะอยู่ในจุดไหน อย่างไร

รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ตนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพการศึกษา มาร่วมกับกรรมการ เพื่อดูปัญหาการประเมินคุณภาพการศึกษาที่มีความลักลั่น และทำให้ สมศ.ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการให้ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินอยู่ใน ผู้กำกับดูแลเดียวกัน ถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตามเราคาดหวังว่า สมศ.น่าจะเป็นองค์กรที่จะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้ ถ้าทุกอย่างออกมาชัดเจน เพราะที่ผ่านมามาตรฐานของ สมศ.เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่วนจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ใหม่หรือไม่นั้น ต้องรอผลการหารือของคณะกรรมชุดนี้