“นายกฯ”เปิดอาเซียนไมโครเอสเอ็มอี แนะชาติมหาอำนาจ ทำนโยบายให้เกิดประโยชน์

“นายกฯ” เปิดอาเซียนไมโครเอสเอ็มอี ชี้ น้ำท่วม-แล้ง เป็นวิกฤติและโอกาส แนะประเทศมหาอำนาจ ทำนโยบายให้เกิดประโยชน์

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ห้องไทยจิตรลดา 1-2 โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คัส์ ควีนปาร์ค กทม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities” ว่า ในนามของรัฐบาล เชื่อมั่นว่าผลการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การเสนอแนะ นโยบายในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่ยั่งยืนและเป็นรูปประธรรม ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเจตนารมณ์นี้ สอดคล้องกับประเด็นเศรษฐกิจในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ผลักดันเพื่อให้สำเร็จในปีนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยในปี 2018 ประเทศไทยมีผู้ประกอบการMicro SME จำนวน 3 ล้านราย มีการจ้างงานประมาณ 14 ล้านคน

นายกฯ กล่าวว่า ดังนั้นในวันนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดย่อม และรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในภูมิภาค สามารถเติบโตได้ เราจึงต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่ง โดยการใช้ระบบพี่เลี้ยง และให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนให้เข้าถึงข้อมูลเข้าถึงตลาด

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ 1. สนับสนุนการเข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยอาเซียนได้พยายามสนับสนุนให้วิสาหกิจรายย่อยจดทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบและลดขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าเทียมกัน 2.ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจรายย่อย ในการเข้าถึงแหล่งเงิน อาจรวมถึงมาตรการที่ส่งเสริมให้บุคคลและวิสาหกิจรายย่อยเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์มากขึ้น และใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม

นายกฯ กล่าวว่า 3. ภาครัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงบริการในการพัฒนาธุรกิจ ในตลาดโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ การริเริ่มเครือข่ายชุมชนเทคโนโลยี หรือแรงจูงใจในการถ่ายโอนความรู้ และ 4.ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับประชาชน เพื่อช่วยในการใช้ดิจิทัล เนื่องจากประชาชนที่ต้องการใช้ดิจิทัลจะต้องมีทักษะที่ต่างออกไป การส่งเสริมทักษะดิจิทัลในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้กลุ่มประเทศอาเซียนของเราได้ก่อตั้งร่วมกันมากว่า 50 ปี ทุกประเทศพยายามที่จะร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนไม่ได้หยุดอยู่ที่รัฐต่อรัฐ แต่ได้ขยายไปถึงภาคเอกชน เป็นการรวมตัวที่สำคัญ ซึ่งการรวมตัวและร่วมมือกันของภาคเอกชนนี้ จะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาคมอาเซียนของเรามีความแน่นแฟ้น และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นรูปประธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราทุกคนรู้ถึงปัญหา ข้อขัดข้อง และอุปสรรคต่างๆในการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน ปัญหาสำคัญคือความร่วมมือผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ว่ามีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการนำเข้าสู่ระบบ ซึ่งตนพยายามทำมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ก็มีความก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวใช้ดิจิตอลประกอบธุรกิจ ซึ่งจะลดเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนโอกาสและเงินทุนให้เกิดการพัฒนา

“สิ่งที่ผมต้องการให้ทุกคนช่วยกัน คือการหาวิธีกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ ให้กับพวกเขาเหล่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว จะพัฒนาไม่ทันการณ์ เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจสินค้าส่งออกเป็นจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และผมอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญแก่ไมโครเอสเอ็มอี อย่างที่ผมไปประชุมมาทุกเวทีโลก ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้โดยตลอด โดยสัญญากันว่าจะทำให้ดีที่สุด เราจะต้องเจริญเติบโตแข็งแกร่งไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราต้องเตรียมการให้พร้อมกับดิสรัปชั่น รวมถึงประเด็นภาวะโลกร้อน อากาศเปลี่ยนแปลง โดยวันนี้จะเห็นว่าเรามีปัญหาในประเทศไทย เช่น พายุ อุทกภัย ซึ่งมีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งจากที่ตกในภาคเหนือ กลับมาตกใต้เขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมและแล้งในบางช่วง ดังนั้น จึงคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกมิติ เพราะหลายเรื่องต้องนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาแก้ไขปัญหา เช่น สงครามการค้า อากาศเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง หรือเรื่องของภูมิภาคทั้งหมด ซึ่งถ้ามองให้ดี ก็จะเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส โดยเราต้องปรับทุกอย่างให้เข้ากับการทำงาน เพราะไม่มีใครแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้แต่การบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนให้มากที่สุด นั่นคือเจตนารมย์ของนายกฯ ทุกอย่างถ้าเราไม่แก้ไขด้วยการเข้าสู่ระบบ ก็จะแก่ไม่ได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ขอฝากในเรื่องนโยบายด้วย ว่านโยบายของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพวกเรา อาเซียนด้วยกันทั้งหมด