ภรรยาอับดุลเลาะยื่น ‘อนค.’ ช่วยตรวจสอบการเสียชีวิต ‘ช่อ’ เผยสถิติ 54 ราย ตาย-เจ็บคล้ายกัน

“ภรรยาอับดุลเลาะ” บุกยื่นหนังสือถึง “อนาคตใหม่” จี้ตรวจสอบการเสียชีวิต “ช่อ” เผยตั้งแต่ปี ‘47 มีกรณีแบบนี้ 54 คน ทั้งหมดเป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู “เสธ.โหน่ง” ชี้ต้องปรามเจ้าหน้าที่ไม่ให้ลุแก่อำนาจ

วันที่ 4 กันยายน ที่รัฐสภาเกียกกาย นางสาวซูไมย๊ะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ พร้อมญาติของนายอับดุลเลาะ เดินทางมายื่นหนังสือถึงพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ หลังถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยมี น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้รับหนังสือ

น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า ทางพรรคอนาคตใหม่ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ว่าทำไมนายอับดุลเลาะ ถึงออกมาจากค่ายอิงคยุทธบริหารในสภาพเจ้าชายนิทราก่อนจะเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรูปถ่ายของนายอับดุลเลาะ ที่โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าร่างกายของนายอับดุลเลาะมีบาดแผลหลายแห่ง ทั้งรอยถลอกที่ข้อเท้า ที่หูมีหนองไหลออกมา พบรอยแดงที่ข้อมือที่คาดว่าอาจเกิดจากการมัด และรอยจี้ที่นิ้ว ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการชอร์ตไฟฟ้า ทั้งนี้ เราขอให้ นายกรัฐมนตรี กองทัพ และกระทรวงกลาโหม ออกมาอธิบายเรื่องดังกล่าวอย่างมีน้ำหนัก ว่าทำไมนายอับดุลเลาะ ถึงออกมาจากค่ายอิงคยุทธบริหาร ด้วยสภาพสมองขาดออกซิเจน เช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ที่เกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เสนอข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่สามารถทำให้กรณีดังกล่าวเกิดความชัดเจน

“นายอับดุลเลาะไม่ใช่คนแรกที่ออกมาจากค่ายทหารและมีสภาพบาดเจ็บสาหัส พิการ หรือเสียชีวิต มีข้อมูลที่ทำการวิจัยโดยกลุ่มวิจัยสิทธิมนุษยชน จ.ปัตตานี และกลุ่มประสานวัฒนธรรมในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2547 พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกกระทำลักษณะนี้ 54 ราย ทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู 51% มีอายุระหว่าง 29-38 ปี โดย 57% เป็นชาวปัตตานี หมายความว่า ประชาชนที่มีลักษณะเดียวกับนายอับดุลเลาะ เป็นแบบฉบับผู้ต้องสงสัยที่รัฐตั้งข้อสังเกต” น.ส.พรรณิการ์ระบุ

น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศ ร่วมอยู่ในกรรมการด้วย เพื่อตรวจสอบการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง เนื่องจากพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ทั้ง 3 แบบ มานานกว่า 1 ทศวรรษ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการทวงคืนความเป็นธรรมแก่ครอบครัวของนายอับดุลเลาะเท่านั้น แต่เป็นการทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

ด้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เช่นเดียวกับการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาเอง ต้องอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยว่า ประชาชนนั้น ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย รวมทั้งต้องสามารถตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส หากยังมีการปฏิบัติลักษณะนี้ ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ และรังแต่จะเพิ่มจำนวนแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบให้มากขึ้น