‘วราวุธ’ แจง ‘ซาฟารีห้วยขาแข้ง’ เป็นเพียงแนวคิด ต้องศึกษาผลกระทบ-ฟังทุกความเห็นก่อน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยถึงโครงการ “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” ว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าว เป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของกลุ่มคนทำงานทั้ง UNDP และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตนเพิ่งรับทราบข้อเสนอแนวคิดดังกล่าว หากจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมจะต้องศึกษาถึงผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งจากประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้ย้ำอยู่เสมอว่า “การกระทำใดก็แล้วแต่ คนและป่าต้องอยู่ร่วมกันได้

“กระทรวงทรัพยากรฯ มีหน้าที่ปกป้องผืนป่าและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่า หากการกระทำใดจะส่งกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ ก็จะไม่ทำ แต่หากทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจที่จะดำเนินการ ก็ต้องหาข้อตกลงถึงผลดีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นโดยละเอียด”

รมว.ทส. กล่าวย้ำอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังมิได้จะดำเนินการแต่อย่างใด หากใครต้องการศึกษาเรื่องซาฟารี ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมานำมาเสนอ ตนก็จะเริ่มขั้นตอนกระบวนการในการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ใช่บทบาทของ ทส. ในการพิจารณา

ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า กรณีดังกล่าวกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังไม่ได้รับการรายงานผลการศึกษาดังกล่าว ทราบว่ายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาโครงการฯ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการเสนอรูปแบบเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการบริหารจัดการสัตว์ป่า ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีเป้าหมายในการบริหารจัดการสัตว์ป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีรายได้ และดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่าควบคู่กันไป

นายธัญญา กล่าวต่อว่า หากจะดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวต่อไป ก็จำเป็นจะต้องมีการพูดคุยหารือกันทุกภาคส่วน ถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้านเสียก่อน โดยในขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่มีนโยบายจะดำเนินการในรูปแบบของซาฟารี ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่ประการใด

ส่วนนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมว่า ทางคณะวนศาสตร์และนักวิจัยได้มานำเสนอแนวคิดของโครงการให้กรมป่าไม้ได้รับทราบแล้ว เมื่อต้นปี 2562 พบว่าพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญเนื้อที่ 4,700 ไร่ พื้นที่เตรียมจัดตั้งป่าชุมชนบ้านห้วยเปล้า 2,812 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำที่เป็นเขื่อนทับเสลาจำนวน 6,406 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างกรมชลประทานขอต่ออายุการใช้ประโยชน์ที่ดินกับกรมป่าไม้ รวมทั้งมีประชาชนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่โครงการบางส่วนและทราบว่ามีกลุ่มประชาชนบางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วย ตนจึงยังมิได้ตัดสินใจสำหรับการดำเนินโครงการนี้

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้ให้คณะนักวิจัยไปจัดทำขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่และสร้างการรับรู้ความเข้าใจ ร่วมกันของทุกหน่วยงานถึงผลประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนจะได้รับและการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกิจกรรม ทั้งนี้ ควรมีแผนงานที่ชัดเจนครบวงจร ระบุหน่วยงานรับผิดชอบ แหล่งที่มาของงบประมาณ การบริหารจัดการการดำเนินงานโครงการที่สามารถดูแลโครงการได้ด้วยตนเองได้ อีกทั้ง กรมป่าไม้เห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พิจารณาโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่ ต่อไป

ขณะที่ นายโสภณ ทองดี โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการจะต้องยึดแนวนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. เป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เนื่องจาก เป็นพื้นที่มรดกโลกที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ และจะต้องเกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรอบ เป็นที่ยอมรับของสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย