ประกาศแผนเพิ่มประชากรเสือโคร่ง 50% เน้นป่าตะวันตก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่

เมื่อวานนี้ (2 กันยายน 2562) นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี กรมอุทยานแห่งชาติแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งของโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคาดว่าทั่วโลกมีจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าไม่เกิน 4,000 ตัว โดยปัจจัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของประชากรเสือโคร่ง มีสาเหตุจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การลักลอบล่าเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 150-200 ตัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการติดตามตรวจวัดประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นใจกลางของผืนป่าตะวันตกโดยการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน

พบว่า มีเสือโคร่งที่ถ่ายภาพได้ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 41 ตัว ในปี 2553 เป็น 77 ตัว ในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยมีประชากรเสือโคร่งที่ประเมินได้อยู่ที่ 80-100 ตัว ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร นอกจากนี้ ยังพบว่าเสือโคร่งในพื้นที่มีการขยายพันธุ์ทุกปี และมีการกระจายพันธุ์ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองอื่นโดยรอบในป่าตะวันตก

หัวหน้าสถานีฯ กล่าวต่อว่า ขณะที่ปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เมื่อปี 2553 ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ได้มีการรับรองปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินงานกิจกรรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งของโลกโดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในโลกเป็นสองเท่าในปี 2565

ซึ่งตามแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่ง ปี 2553-2565 และแผนแห่งชาติ เพื่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งปี 2553-2565 ของประเทศไทย มีเป้าหมายในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยให้ได้ 50% โดยเน้นในผืนป่าตะวันตกและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ด้วย

เมื่อถามว่าในช่วงที่ร่วมลงปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ขณะนั้นประเทศไทยระบุว่ามีเสือโคร่ง 250 ตัว และจะเพิ่มเป็น 375 ตัว ภายในปี 2565 นายสมโภชน์ กล่าวว่า เดิมเป็นการประเมินจากสภาพพื้นที่ป่า บวกกับการพบร่องรอยเสือโคร่งจึงคาดการณ์ว่าน่าจะมีประมาณ 200-250 ตัว แต่เมื่อเทคโนโลยีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ มีการพัฒนาขึ้น เช่น กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพราะมีภาพถ่ายยืนยันจากเดิมที่เห็นเพียงร่องรอย จึงได้ข้อมูลที่ชัดเจนคือมีประมาณ 150 ตัว โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ชายแดนไทย-เมียนมา และชายแดนไทย-มาเลเซีย

“เรื่องนี้เราสามารถชี้แจงได้ และไม่กระทบต่อการลงปฏิญญา ที่ประเทศไทยระบุว่าจะเพิ่มประชากรเสืออีกร้อยละ 50 และสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น และประชากรเสือโคร่งที่เราดูแลอยู่ในผืนป่าตะวันตกก็เพิ่มมากขึ้น ในป่ารอบๆ ที่ยังไม่เคยมีรายงานการพบเสือโคร่งก็พบเห็นได้เพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯ เขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี” นายสมโภชน์ กล่าว