“ศรีสุวรรณ”ข้องใจ เทศบาลหัวหินไม่รู้ใครเป็นเจ้าของร้านลาแม แต่ใช้น้ำประปา-ไฟฟ้าปกติ

จากกรณีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายไปตรวจสอบพื้นที่ตรวจสอบชายเขาติดชายทะเลบริเวณร้านอาหารลาแม บริเวณเชิงเขาวัดเขาตะเกียบ ชุมชนตะเกียบ เขตเทศบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับการร้องเรียนว่า มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ขุดถนน ถมดินลูกรังสร้างเส้นทาจากร้านอาหารไปจุดชมวิวด้านพระยืน ริมหาดหัวหิน พบว่าที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนเช่าใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ 32 ไร่นั้น

วันที่ 29 สิงหาคม นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำรายงานชี้แจงโดยด่วน จากปัญหาบริษัทเอกชนขอเช่าใช้ที่ดินบริเวณเขาตะเกียบ มีการตั้งสังเกตก่อนการอนุญาตให้เช่าใช้หลายประการ ล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.จ.) รวมทั้งหน่วยงานที่สังกัดกรมป่าไม้ในพื้นที่ ทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ก่อนกรมป่าไม้อนุญาตให้เช่าพื้นที่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อตรวจสอบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และรายงานข้อมูลผ่านจังหวัดครบถ้วนตามกฎกระทรวงหรือไม่ ก่อนเสนอกรมป่าไม้ให้ความเห็นชอบเพื่ออนุญาต ยืนยันว่าเรื่องนี้ตนไม่ได้ลงนามและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อส่งเรื่องถึงกรมปาไม้ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ได้สั่งการให้เทศบาลหัวหินรายงานการตรวจสอบการใช้อาคารของบริษัทเอกชนผ่านฝ่ายปกครองอำเภอ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการชี้แจง แต่ได้เร่งรัดให้รีบดำเนินการ เนื่องจากทราบว่าเทศบาลยังไม่ออกคำสั่งระงับใช้อาคารร้านลาแม ขณะที่เดิมไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างและขอใช้ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยได้แจ้งให้สรุปที่มาของร้านลาแมในอดีตที่เริ่มตั้งแต่เอกชนขอเช่าโรงทานจากวัดเขาตะเกียบ พร้อมคำพิพากษาศาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งคดีที่วัดมีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน คดีที่ศาลสั่งให้เทศบาลรื้อถอนอาคารแต่ปัจจุบันยังไม่รื้อด้วยเหตุผลใด และในอดีตถึงปัจจุบันเทศบาลได้ดำเนินการอย่างไรกับอาคารร้านลาแมก่อนจะอยู่ในพื้นที่เช่าของกรมป่าไม้”นายพัลลภกล่าว

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคม‬ต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าก่อนที่กรมป่าไม้อนุญาตได้ไม่ดำเนินการให้ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ในหมวดที่ 3 เรื่องการอนุญาต ข้อ 12 พื้นที่ที่จะอนุญาตได้ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ (2) “ไม่เป็นพื้นที่ที่ควรรักษาไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า” เนื่องจากปัจจุบันบริเวณเขาตะเกียบมีสัตว์ป่าหลายประเภทและต่อมาพบว่ามีปรับสภาพพื้นที่นำดินลูกรังสร้างถนน ก็น่าจะเป็นเหตุผลในการเพิกถอนการอนุญาตได้

ขณะที่เทศบาลหัวหินที่อ้างว่าไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของร้านลาแมนั้น ไม่น่าจะมีเหตุผลเนื่องจากปัจจุบันร้านอาหารดังกล่าวมีการขอใช้น้ำประปาและขอใช้ไฟฟ้า มีหลักฐานการเสียภาษี เทศบาลมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร สามารถใช้คำสั่งทางการปกครองปิดหมายด้านหน้าอาคารให้ทราบเพื่อให้ผู้ครอบครองชี้แจงได้ภายในเวลากฎหมายกำหนด หรือหากมีคำพิพากษาศาลบังคับคดีสั่งให้รื้อถอนแล้วก็ควรเดินหน้าทำตามกฎหมาย ไม่ควรเกรงกลัวอำนาจของนายทุน หากเพิกเฉยเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจเข้าข่ายละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่

ด้านแหล่งข่าวจากกรมป่าไม้ระบุว่า เดิมร้านลาแมตั้งอยู่ก่อนกรมป่าป่าไม้จะอนุญาตให้เช่าป่า 32 ไร่ เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีคำพิพากษาศาลคุ้มครองในระหว่างการรังวัดแนวเขตจึงไม่ได้พิจารณาตรวจสอบรายละเอียดการใช้อาคาร ขณะที่ปัจจุบันสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรีได้สั่งระงับการพัฒนาพื้นที่ไว้แล้ว แต่คงไม่เสนอให้เพิกถอนเพราะเกรงผู้เช่าจะร้องศาลปกครองจะทำให้ยืดเยื้อ ขณะที่สัญญาเช่า 3 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 หลังจากนั้นกรมป่าไม้จะไม่พิจารณาต่อสัญญา