อนค.เปิดประเด็นใหม่ พรก.ออกแก้พรบ.จ่อเข้าสภา ถ้าไม่ผ่าน ครม.ต้องลาออกรับผิดชอบ

เอาอีก! “อนาคตใหม่” เปิดช่อง ตี พ.ร.ก.ออกแก้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ชี้ ออกก่อน-รับรองทีหลัง ถ้าสภาตีตก ครม. ต้องรับผิดชอบทางการเมืองโดยการลาออก

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาพรรคอนค. แถลงถึงการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 พ.ศ.2562 ว่า ชื่อกฎหมายไม่ได้ซ้ำ เพราะพ.ร.ก.นี้ออกปี 62 เพื่อแก้ พ.ร.บ.ปี 62 ซึ่งประเทศไทยมีการตรา พ.ร.ก.มาแล้วหลายครั้งหลายหน โดยรัฐธรรมนูญให้อำนาจครม.ออก พ.ร.ก.ใช้ไปพรางก่อน ออกแล้วมีผลทันที แต่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อนเพื่อให้มีผลต่อเนื่องไปตลอดกาล กล่าวคือ ออกไปก่อน รับรองทีหลัง หมายถึงกฎหมายไปออกที่ฝ่ายบริหารก่อน แล้วค่อยให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรองทีหลัง จึงต้องมีเหตุจำเพราะเจาะจง ตามมาตรา 172 วรรค 1 คือ 1.ออกเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3.เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 4.เพื่อป้องปัดภัยพิบัติ เท่านั้น โดยต้องเป็นความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน ปัญหาคือ พ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าเหตุทั้ง 4 เหตุหรือไม่ ซึ่งตนอ่านแล้วก็ไม่เห็นว่าเข้าเหตุตรงไหน แต่มีเนื้อหาเพียงว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวที่มีผลในวันที่ 24 สิงหาคม 62 อย่าให้มีผล ให้หยุดการมีผลใช้บังคับไปก่อน โดยอ้างว่าหน่วยงานต่างๆยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ จึงต้องเอาพ.ร.ก.มาเบรกไม่ให้พ.ร.บ.มีผล

นายปิยบุตร กล่าวว่า เดี๋ยวจะต้องมีการเอาพ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด นั่นหมายความว่าประชุมสัปดาห์หน้าเรื่องนี้ต้องเข้าสภาทันทีเพื่อให้สภาพิจาณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ถ้าสภาพิจารณาร่วมกันว่าไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็ต้องตกไปทันที แต่ยังมีความรับผิดชอบในทางการเมือง ในประวัติศาสตร์มี พ.ร.ก.ที่ไม่ผ่าน 3 ครั้ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียบปฏิบัติมาตลอดว่า ถ้าพ.ร.ก.ใดที่ถูกนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วไม่ผ่าน ครม.จะลาออก สมัยจอมพล.ป. ไม่ผ่าน 2 ครั้ง ก็ลาออกทั้ง 2 ครั้ง สมัยพล.อ.เปรม ไม่ผ่าน 1 ครั้ง ก็ใช้วิธียุบสภา ดังนั้น ต้องตามดูต่อไปว่า หากครั้งนี้เอากลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วไม่ผ่าน ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะมีความรับผิดชอบในทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ช่องทางต่อมาคือ หากเกิดสภาเห็นว่าการออก พ.ร.ก.นี้ไม่เข้าเหตุ 4 ข้อตามที่กล่าวมา ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 มีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าเหตุในการออกตามมาตรา 172 วรรค 1 หรือไม่ ถ้าไม่เข้าแปลว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ตกไปตั้งแต่วันออก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยภายใน 60 วันด้วย เรื่องนี้สัปดาห์หน้าจะชัดเจนว่า เราจะเอาอย่างไรกัน โดยจะได้ปรึกษากับพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าประเด็นนี้จะเดินหน้าต่อไปกันอย่างไร เมื่อก่อนท่านมีอำนาจตามมาตรา 44 มา 5 ปี ทำให้การใช้อำนาจของท่านปราศจากความระมัดระวัง และความรอบคอบ มีการออกกฎหมายผิดพลาด บกพร่อง สะเพร่า หลายครั้ง ออกแล้วแก้กันหลายครั้งด้วยอำนาจมาตรา 44 แต่ครั้งนี้ท่านไม่มีมาตรา 44 แล้ว เลยไปหาช่องทางอะไรที่จะดำเนินการได้ดดยเร็ว โดยอาจจะลืมไปว่าตอนนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ท่านก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่อไป แล้วท่านต้องรับผิดชอบทางการเมือง เพราะท่านไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 ในมืออีกต่อไปแล้ว ไม่มีใครช่วยท่านได้อีกแล้ว