“มงกิตติ์” ลงลุยภูเก็ต ติดตามกรณีพิพาทสร้างคอนโดหรู พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ตร.

มงคลกิตติ์ลงภูเก็ตติดตามกรณีพิพาทโครงการก่อส้รางคอนโดหรูและคลองสาธารณะบางรัก หาดกะตะที่หายไป พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ผกก. และรองผกก.สภ.กะรน

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 23 สิงหาคม ที่เทศบาลตำบลกะรน อ.เมืองภูเก็ต นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ พร้อมคณะเดินทางเข้าพบ นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรี ตำบลกะรน และฝ่ายบริหาร เพื่อหารือ กรณีปัญหาการร้องเรียนเรื่อง โครงการก่อสร้างของ เดอะพีค เรสซิเด้นท์ คอนโดมีเนี่ยม และปัญหาลำรางสาธารณะคลองบางรักที่หายไป โดยมี นายอิทธิพร สังข์แก้ว รองนายกเทศมนตรี และนายวันชัย แซ่ตัน ผอ.กองช่างฯ และสมาชิกสภาร่วมให้ข้อมูล

ทั้งนี้ในการหารือดังกล่าวทางเทศบาลตำบลกะรนได้มีการชี้แจง ประเด็นสำคัญหลักๆ หลายประเด็นคือ เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตก่อสร้าง ปัญหาลำรางสาธารณะคลองบางรัก และปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังหาดกะตะน้อย เพื่อพบปะพูดคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาด ถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด พร้อมทั้งเดินเท้าไปตามแนวชายหาดกะตะน้อยเพื่อตรวจสอบจุดที่มีการระบุว่า เคยเป็นคลองสาธารณะบางรัก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมแห่งหนึ่ง

จากนั้นนายมงคลกิตติ์ พร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยัง สภ.กะรน เพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจกับ พ.ต.อ.ประวิทย์ สุทธิเรืองอรุณ ผกก.สภ.กะรน และ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รองผกก.ป.สภ.กะรน ที่ตกเป็นข่าวดัง กับนาย สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดภูเก็ตเพื่อพบกับ นาย สุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อมาตรวจสอบข้อพิพาท ที่ประชาชนร้องเรียนผ่านมาทางเฟซบุ๊กของพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมฯ เรื่องคลองสาธารณะบางรัก ซึ่งขณะนี้ได้ข้อมูลแล้ว และจะได้ข้อมูลชัดเจนอีกช่วงบ่าย หลังเข้าพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทางเทศบาลตำบลกะรนน่าจะทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่น่าจะผิดพลาดตรงขั้นตอนการอนุมัติ EIA ซึ่งขณะนั้นมีคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นมาแล้ว แต่ทำไมที่ดินจังหวัดไม่รายงาน หรืออาจจะมีการรายงานแล้วซึ่งต้องดูในบันทึกรายงานการประชุม เพื่อจะดูวาใครกันที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด หรือที่ดินจังหวัดเราก็ยังไม่แน่ใจ และนี่เป็นส่วนนึง อีกส่วนนึงคือเรื่องกรณีการก่อสร้างทับลำรางสาธารณะคลองบางรัก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นช่วงประมาณปี 2520 กว่าๆ ซึ่งเรื่องนี้ทราบว่าที่ดินจังหวัด มีการสั่งการให้ดำเนินการแก้ไข โฉนดที่ดินให้มีคลองสาธารณะเหมือนเดิม ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วก็จะมีการบังคับใช้กฏหมาย กับผู้ครอบครองที่ดินให้ปรับปรุงแก้ไขให้กลับเป็นเหมือนเดิมเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ เพราะว่าเดิมทีแล้วแหล่งน้ำธรรมชาติจะต้องมีทางออกไปสู่ทะเล แต่ปัจจุบันไม่มีทางออก ก็จะเป็นปัญหาต่อไป เพราะฉะนั้นและเรื่องก็หมายก็ต้องว่าไปตามกฏหมาย

และอีกส่วนที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมก็คือในส่วนความเดือดร้อนของพี่น้องที่ประกอบการร่มเตียงชายหาด ปัจจุบันนักท่องเที่ยวน้อยลง เท่าที่ดูก็พบว่าสัดส่วนกำหนดพื้นที่นั้น มีผู้ประกอบการโรงแรมใหญ่ๆมีการวางร่มเตียงชายหาดให้นทท.จำนวนมาก สัดส่วนพี่น้องผู้ประกอบการที่เป็นชาวบ้านเหล่านี้มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ในช่วงรัฐบาล ชุดนึงก็อนุญาต แต่เมื่อถึงยุค คสช.ก็ไม่อนุญาต แต่กลับอนุญาตให้กับระบบทุนใหญ่ ซึ่งทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ชาวบ้านหาดกะตะตำบลกะรนส่วนใหญ่ มีอาชีพเดิมของเขา จนภายหลังมีโรงแรมสถานประกอบการขนาดใหญ่มาสร้าง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จนไปกินพื้นที่ของ การประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และพี่น้องบางรายถูกดำเนินคดีจากการมาทำมาหากินในที่สาธารณะ ที่ติดกับทะเล แต่ในส่วนโรงแรมใหญ่นั้นทำกินในพื้นที่ที่มีโฉนด เพราะฉะนั้นในเมื่อรัฐบาลนึงผ่อนปรน อีกรัฐบาลดำเนินคดีเขา ซึ่งไม่ถูกต้องเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ซึ่งจะต้องไปเรียนกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด และอีกส่วนที่พบจากการลงพื้นที่คือมีสิ่งปลูกสร้างอยู่บนภูเขา ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบว่าอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.หรือไม่ ถ้าอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.ก็ต้องเสนอให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้เมื่อเปิดประชุมสภาฯตนเองก็จะนำปัญหาดังกล่าวเข้าปรึกษาหารือกับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ เพื่อให้ท่านช่วยทำหนังสือประสานไปยัง กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไข ซึ่งตนเองจะใช้สิทธิ์ในการแถลงข้อเท็จจริง ในการลงพื้นที่ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าเมื่อตนเอสื่อสารออกไปแล้วก็จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขตามกฏหมาย เช่นเดียวกับที่ตนเองไปตรวจสอบพื้นที่ ที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาที่มีการแอบดูน้ำลำตะคอง สร้างสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีการรื้อถอนไปหมดแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินคดี ถูกว่าไปตามถูก ผิดว่าไปตามผิด เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน ถ้าได้รับความเดือดร้อนตนเองก็จะลงพื้นที่ เพราะในฐานะที่ตนเป็นส.ส.บัญชี รายชื่อ ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่ส.ส.เขต จึงต้องมาในนามพรรค พรรคต้องทำหน้าที่ให้กับพี่น้องประชาชนใน 77 จังหวัด อีกอย่างตนเองนั้นสามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระเนื่องจากไม่ต้องเกรงใจฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จึงอยู่ฝ่ายประชาชน สามารถทำได้เต็มที่มีอิสระและไม่ต้องมีใครมาครอบงำ ตามรัฐธรรมนูญ