ปฏิกิริยาลูกโซ่ นักศึกษา “ลดฮวบ” หลายมหาวิทยาลัย ร้านค้า-หอพัก-บ้านเช่าเผชิญกำลังซื้อตกวูบ

ธุรกิจหอพัก-ร้านอาหาร-ร้านค้ารอบมหาวิทยาลัยหลายจังหวัดกำลังซื้อวูบ หลังหลายมหาวิทยาลัยเจอวิกฤต 5 ปี ยอดนักศึกษาลดฮวบทุกปี “ราชภัฏพิบูลสงคราม” พิษณุโลก ชี้คนรุ่นใหม่มุ่งสายอาชีพ ทำธุรกิจหอพัก-บ้านเช่าโอเวอร์ซัพพลาย แข่งเดือดตัดราคาช่วงชิงลูกค้า บางกิจการถูกทิ้งร้าง ด้าน “มมส.” เล็งเปิดโมเดลการเรียน “ระบบเครดิตแบงก์” ปีการศึกษา 2563 ขณะที่ “ราชภัฏมหาสารคาม” ดิ้นพัฒนาทรัพย์สินทดแทนรายได้ค่าเทอมที่หายไปทั้งธุรกิจ “ปั๊มน้ำมัน”-“ให้เช่าพื้นที่”

รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ศรีแก้ว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก ถือเป็นมหาวิทยาลัยขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากพิจารณาสถิตินักศึกษาเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังลดลงปีละ 100-200 คน จากจำนวนนักศึกษาแรกเข้าที่ตั้งเป้าไว้เฉลี่ยปีละ 3,000 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ที่ตั้ง ค่าเทอม ปริญญาเสื่อมค่า กฎระเบียบของมหาวิทยาลัย การควบคุมประชากร และการศึกษามุ่งสายอาชีพมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นคุณค่าปริญญาเสื่อมค่าลง เยาวชนสมัยใหม่เลือกเรียน และการทำงานหารายได้ โดยเฉพาะการหารายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ ทำให้มีรายได้มากกว่า นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยรุ่นใหม่แต่งงานช้า มีบุตรน้อย ทำให้จำนวนประชากรลดลงด้วย ทั้งนี้ จำนวนนักศึกษาลดลงส่งผลให้ธุรกิจหอพัก บ้านเช่า และบ้านจัดสรรรอบมหาวิทยาลัยที่เคยผุดขึ้นในช่วง 4-5 ปีเหลือ ทิ้งร้าง

หอพัก-บ้านเช่าร้างปิดกิจการ

“นักศึกษาเลือกหอในมหาวิทยาลัยที่มีราคาถูกกว่า โดยหอในมหาวิทยาลัยมีหอพัก 3 อาคาร เฉลี่ยอาคารละ 100 ห้อง พักได้ห้องละ 3-4 คน เฉลี่ยในปีหนึ่งรองรับนักศึกษาอยู่ที่หอพักในประมาณ 1,000 คนเศษ ขณะที่ราคาค่าเช่าอยู่ที่เทอมละ 4,000 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ส่วนนักศึกษาที่เหลือก็กระจายอยู่ตามหอพักรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งมีค่าเช่าแพงกว่า 2,000-3,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อจำนวนนักศึกษาลดลงธุรกิจหอพักและบ้านเช่ากลายเป็นธุรกิจไม่น่าลงทุน บางแห่งถูกทิ้งร้าง จัดรายการลดราคาดึงลูกค้านักศึกษา โดยเฉพาะหอพักที่อยู่ไกลจากที่ตั้งสถานศึกษา

ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องพึ่งพารายได้จากนักศึกษา จากค่าเทอม แม้แต่มหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ก่อนมีงบฯเป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อนักศึกษาลดลงก็เกิดการแย่งเด็กรุนแรงตามจำนวนเด็กที่ลดลง เพราะมีปัญหาด้านรายได้โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชนที่ปรับตัวไม่ได้ก็ยุบเลิกไปเลยก็มี เช่นเดียวกับธุรกิจหอพักในสภาพปัจจุบันที่ประสบปัญหานิสิตนักศึกษาลดลงแบบนี้ จึงเป็นธุรกิจที่ไม่น่าลงทุนเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุนได้”

นักศึกษาลดกระทบกำลังซื้อวูบ

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจมหาสารคามยังเงียบอยู่ ยอดขายสินค้าขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน คือ สำหรับธุรกิจร้านอาหาร หอพัก ซึ่งอยู่ในเมืองจะพึ่งกำลังซื้อจากนักศึกษาธุรกิจพอไปได้ แต่กำลังซื้อทั่วไปส่วนใหญ่มาจากชาวนา ซึ่งเป็นประชากรเกินครึ่งในจังหวัดมหาสารคาม ปกติทำงานรับจ้างทั่วไป และมีรายได้อีกส่วนมาจากพืชผลทางการเกษตรผสมกัน แต่เมื่อแนวโน้มยอดนักศึกษาเริ่มเข้าเรียนลดลงเรื่อย ๆ สาเหตุจากโครงสร้างประชากรเกิดน้อยลง ประกอบกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามอาจได้รับความนิยมน้อยลงต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามจำนวนนักศึกษาลดลง 20-30% ขณะที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามยอดจำนวนนักศึกษาลดลง 5-10%

การที่ผู้ประกอบการธุรกิจในเมืองมหาสารคามส่วนใหญ่ทำธุรกิจกับนักศึกษา ทั้งหอพัก ร้านค้าต่างๆ ร้านอาหาร รวมถึงห้างสรรพสินค้า เมื่อจำนวนนักศึกษาลดลงได้รับผลกระทบต่อกกำลังซื้อไปด้วยอย่างมาก

นายณรงค์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางนายเกียรติศักด์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้หารือกัน เตรียมหาแนวทางจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงให้ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น วันที่ 22 สิงหาคม 2562 จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบสถาปนาเมืองมหาสารคามครบ 154 ปี ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายให้นักท่องเที่ยวได้รับชม

ดัมพ์ราคาหอพักแย่งลูกค้า

นายกฤษณพงศ์ เจริญวานิช ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และหอพัก จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมามีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาลงทุนก่อสร้างหอพักจำนวนมาก เมื่อถึงวันที่จำนวนนักศึกษาเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จะมีปริมาณห้องพักเหลือจำนวนมาก แต่หอพักที่ใกล้สถานศึกษาอาจได้รับผลกระทบน้อย เพราะเป็นที่นิยม แต่หอพักที่อยู่ไกลสถานศึกษาจะได้รับผลกระทบมากกว่า เท่าที่ทราบว่าตอนนี้หลายหอพักมีการลดราคาค่าเช่าลงมาเพื่อดึงดูดลูกค้า หากสถานศึกษาไม่ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักศึกษาก็จะลดลงเรื่อย ๆ

“วันนี้ยอดตัวเลขจำนวนนักศึกษาอาจยังลดลงไม่สูงมาก แต่อนาคตลำบากแน่เพราะความคิดของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องมาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เปิดขายสินค้าทางออนไลน์ อยู่บ้านก็มีรายได้แล้ว ดังนั้น ต้องปรับหลักสูตรสนองตอบกับการทำมาหากิน” นายกฤษณพงศ์กล่าว

 

“มมส-ราชภัฏสารคาม” ดิ้นหารายได้เพิ่ม

ผศ.ดร.ภาคภูมิ หรรนภา ฝ่ายพัฒนานิสิต สารสนเทศและประชาสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการเก็บสถิติการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 เฉลี่ยอยู่ประมาณ 1,000-2,000 คน จะเห็นได้ว่าปี 2558 จำนวนนักศึกษามีประมาณ 13,640 คน ปี 2559 จำนวนนักศึกษาเริ่มลดลงอยู่ที่ 12,593 คน ปี 2560 จำนวน 10,188 คน ปี 2561 จำนวน 9,531 และปี 2562 จำนวน 9,860 คน โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ในปีการศึกษา 2563 จะมีเปิดหลักสูตรการเรียนแบบใหม่ คือ การเรียนระบบเครดิตแบงก์ (credit bank) คือ นักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนต่อเนื่องครบ 4 ปีหากได้งานทำ และอยากออกไปทำงานหาประสบการณ์ก่อน มหาวิทยาลัยจะเก็บหน่วยกิตไว้ให้ จะกลับมาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ที่นี้พร้อม กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อจบมัธยมตอนปลายก็สามารถเทียบโอนหลักสูตรเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ นอกจากนี้ จะมีการเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น เช่น อบรมการถ่ายภาพ อบรมการถ่ายวิดีโอ เป็นต้น และมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการปรับหลักสูตร โดยคณะหรือสาขาที่มีการเรียนการสอนที่คล้ายกันก็จะรวมเป็นหลักสูตรเดียวกัน

นายวุฒิพล ฉัตรจรัสกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องยอดนักศึกษาลดลงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ปีการศึกษา 2562 ยอดนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามมีประมาณ 3,500 คนเศษ เทียบกับปี 2561 มี 3,000 คนเศษ ถือว่าปีนี้ยอดนักศึกษาเพิ่มขึ้นกว่า 500 คน ถึงจะเพิ่มเล็กน้อยก็ยังเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ถือว่ายังสูงอยู่หากเทียบกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ทั้งนี้ การที่ยอดนักศึกษาลดลงส่งผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะรายได้จากเงินค่าเทอมลดลงกระทบต่อการจ้างอาจารย์ ส่วนที่ใช้งบฯรายได้ของมหาวิทยาลัยจ้าง ต่อไปสถาบันการศึกษาต้องหารายได้ทดแทน อาทิ พัฒนาทรัพย์สินมหาวิทยาลัยให้มีรายได้เข้ามา ต้องใช้มาตรการประหยัด ลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือเปิดหลักสูตรระยะสั้น สอดคล้องกับบริบทสังคม เป็นต้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีธุรกิจปั๊มน้ำมัน และให้ร้านสะดวกซื้อเช่าพื้นที่เปิดร้าน อนาคตต้องมีแผนการบริหารจัดการอื่น ๆ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น