เพลิงผลาญป่าแอมะซอน ทุบสถิติลาม “โบลโซนาโร” โทษเอ็นจีโอเป็นมือเผา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาว่าป่าแอมะซอน ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับไฟป่าที่ลุกลามในอัตราที่ทำลายสถิติ โดยสถาบันเพื่อการวิจัยอวกาศแห่งชาติ (ไอเอ็นพีอี) ของประเทศบราซิลพบว่ามีไฟป่าเกิดขึ้นในป่าแอมะซอน ในประเทศบราซิล ถึง 72,843 จุดในปีนี้ กินพื้นที่มากกว่าครึ่งในภูมิภาคแอมะซอน โดยนับเป็นไฟป่าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้าที่มีเพียง 39,759 จุด นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นวิกฤตการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อแผนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในวันเดียวกันโซเชียลมีเดีย เกิดกระแสแสดงความห่วงใยป่าที่เปรียบเสมือนปอดของโลก ที่สามารถผลิตออกซิเจนสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ป้อนสู่บรรยากาศโลก เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ เกิดแฮชแท็ก #PrayforAmazonas พุ่งขึ้นติดเทรนด์ฮิตในทวิตเตอร์ มีผู้ทวีตแฮชแท็กดังกล่าวจำนวนมากกว่า 250,000 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพควันจากไฟป่าที่ปกคลุมท้องฟ้าไปไกลถึงเมืองเซาเปาลู ที่อยู่ห่างไปไกลถึง 1,700 กิโลเมตร ขณะที่ “โคเปอร์นิคัส” โครงการดาวเทียมของสหภาพยุโรป เผยแพร่ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นควันไฟที่ปกคลุมทั่วประเทศบราซิล ไกลถึงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เรื่อยไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเปรู โบลิเวีย และปารากวัย

ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมโจมตี ชาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีขวาจัดของบราซิลว่า เป็นผู้ทำให้ป่าแอมะซอน อยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยง โดยโจมตีนโยบายผ่อนคลายการควบคุมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบุกรุกเผาทำลายป่าเพื่อพื้นที่การเกษตรมากยิ่งขึ้น

ด้านประธานาธิบดีโบลโซนาโร ผู้ที่เพิ่งปลดผู้อำนวยการไอเอ็นพีอี หลังจากโจมตีว่าไอเอ็นพีอี โกหกเกี่ยวกับตัวเลขการทำลายป่าที่เพิ่มขึ้น ออกมาระบุในวันเดียวกันว่า สถานการณ์ไฟป่าดังกล่าวเป็นฝีมือขององค์กรไม่แสวงผลกำไรหรือ เอ็นจีโอ ในการใช้โจมตีตนรวมไปถึงรัฐบาลบราซิล หลังจากมีการตัดงบประมาณไปก่อนหน้านี้ โดยประธานาธิบดีระบุว่า ไฟนั้นถูกจุดขึ้นอย่างจงใจในพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง

ทั้งนี้การให้ความเห็นของประธานาธิบดีบราซิลมีขึ้นก่อนหน้าบราซิลจะจัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเมืองซัลวาดอร์ ตอนเหนือของประเทศ ก่อนหน้าการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่25 (COP25) ที่ประเทศชิลี ในเดือนธันวาคมนี้ โดยชิลี รับเป็นเจ้าภาพแทนบราซิล หลังบราซิลถอนตัวโดยอ้างว่าเป้าหมายในการประชุมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้