‘จุรินทร์’ ลุย แก้ไขปัญหา ปุ๋ย-ปาล์ม-มะพร้าว พร้อมจี้รพ.เอกชนแจงข้อมูล 26 ส.ค.นี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 4/2562 ว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน (คน.) ตรวจสอบในเรื่องของการจำหน่ายปุ๋ยของเกษตรกรที่เป็นต้นทุนการผลิตที่มีความสำคัญ และมีกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรทั่วประเทศ จึงสั่งการให้คน.ตรวจสอบเรื่องราคาที่ต้องไม่แพง และเป็นธรรมต่อเกษตรกร ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้ติดตามราคารับซื้อพืชผลการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเก็บผลผลิตได้ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วบางชนิด คือ ลำใย ได้เปลี่ยนการติดประกาศราคาจากช่วงเย็นมาเป็นช่วงเช้าเวลา 08:00 น. ทำให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมได้สำเร็จ พร้อมจะทำกับพืชผลชนิดอื่นต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติต่อเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ให้ติดตั้งมิเตอร์เพื่อตรวจวัดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบแบบเรียลไทม์ เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานคนไปวัดที่อาจไม่มีความเที่ยงตรง และปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ทีมีปริมาณ 3 แสนตัน เพิ่มเป็น 4.5 แสนตัน ส่งผลให้มีการกดราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร ทั้งนี้ ตนจึงมอบหมายให้คน. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในเรื่องมิเตอร์ เบื้องต้นจะมีการติดตั้งมิเตอร์จำนวน 450 เครื่อง ใช้วงเงินในการจัดหาและติดตั้งกว่า 500 ล้านบาท โดยจะเป็นงบกลางที่จะต้องดำเนินการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ตามมติคณะกรมมการนโยบายปาล์มฯ อีกด้วย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของการกำหนดการขนย้ายมะพร้าว ได้ขอเพิ่มพื้นที่ควบคุมการขนย้ายมะพร้าวผลแก่เนื้อมะพร้าวขาว และเนื้อมะพร้าวแห้ง ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในพื้นที่จังหวัด จ.ปัตตานี ใน 6 อำเภอ คือ .เมือง อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.หนองจิก และอ.ไม้แก่น เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้ 7 จังหวัด 10 อำเภอ หลังจากนี้จังหวัดที่มีการควบคุมการขนย้ายจะมีทั้งหมด 8 จังหวัด 16 อำเภอ และในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 จะนัดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือและร่วมแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องราคามะพร้าว และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องแจ้งราคายาของโรงพยาบาลเอกชน ได้ติดตามประกาศ กกร. เรื่องการแจ้งราคาการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรคเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ด้วยโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 354 ราย ในจำนวนดังกล่าวแจ้งข้อมูลครบถ้วนแล้ว 322 ราย แจ้งข้อมูลบางส่วนแล้ว 48 ราย รายที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลตามวันที่กำหนด 15 ราย และพบที่ไม่มีการแจ้งข้อมูลเลย 5 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบดังกล่าวขระนี้ คน.รายงานว่าได้ออกหนังสือเรียกไปยังโรงพยาบาลทั้ง 20 ราย ที่ไม่ได้แจ้งข้อมูล มาชี้แจงข้อมูลในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ และต้องได้รับโทษตามมติของกกร.ต่อไป ส่วนการติดตั้งคิวอาร์โค้ดในการตรวจสอบราคายานั้น พบว่ามีโรงพยาบาลที่ติดตั้งกว่า 307 ราย มีประชาชนเข้ามาในเว็บกว่า 2 หมื่นยอดผู้ติดตาม และยังไม่พบการร้องเรียนแต่อย่างใด