“ไอติม”ฝากข้อคิด รธน.ที่ดี ต้องมาจาก”ทุกฝ่าย”ร่วมกันร่างขึ้น ป้องกันขัดแย้งในอนาคต

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญและวิธีการแก้ไข โดยระบุว่า

ฉันทามติที่ก้าวหน้า หรือ “Progressive Consensus” – พื้นฐานของบทสนทนาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับประเทศ?

ผมมองว่าสังคมที่ก้าวหน้า ไม่ใช่สังคมที่คนทุกคนเห็นตรงกัน แต่เป็นสังคมที่คนที่เห็นต่างกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายใด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศแบบไหน ทั้งหมดล้วนเป็นการแข่งขันทางอุดมการณ์และความคิด ที่เราจะเห็นต่างกันแต่เคารพผลลัพธ์ที่ประชาชนตัดสินและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ เปรียบเสมือนทีมฟุตบอลที่แข่งกันอย่างดุเดือด 90 นาที แต่จับมือกันหลังเกมจบ

แต่สิ่งที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและขัดแย้งมากที่สุด คือ “กติกาที่ไม่เป็นกลาง” และไม่เปิดโอกาสให้แต่ละอุดมการณ์หรือแต่ละนโยบายถูกนำเสนอและนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในประเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำไม การพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่หลายส่วนถูกตั้งคำถามเรื่อง “ความเป็นกลาง” ทั้ง ที่มา กระบวนการและเนื้อหาสาระ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อลดโอกาสที่ประเทศจะเกิดความขัดแย้งในอนาคต ที่อาจนำมาสู่ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและต่อความมั่นคงของประเทศ ผมจึงอยากเห็นทุกคนร่วมกันหา “ฉันทามติที่ก้าวหน้า” ในการกำหนดกติกาของประเทศที่ทุกคนยอมรับได้อย่างแท้จริงว่าเป็นกลางสำหรับทุกฝ่าย ไม่ใช่ยอมรับได้เพียงเพราะกติกาเข้าข้างฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

อะไรคือเงื่อนไขที่เอื้อต่อการหา “ฉันทามติที่ก้าวหน้า”?

ผมมองว่ามี 4 เงื่อนไขที่สำคัญต่อการทำให้เกิด “ฉันทามติที่ก้าวหน้า” ของสังคมได้ คือ

1. สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่แตกต่าง  ยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องโลกกลม vs โลกแบน

ในสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าโลกแบน ถ้าเรากดขี่ไม่ให้คนที่เชื่อว่าโลกกลม ได้มีโอกาสแสดงความเห็น ปัจจุบันเราก็จะยังอยู่กับความเชื่อที่ผิด และสังคมก็จะเสียความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เราอาจมีเพียง “ฉันทามติ” ที่ล้าหลัง

แต่ในสมัยนี้ ที่คนเกือบทุกคนรู้แล้วว่าโลกกลม ถ้าเกิดมีคนหนึ่งที่ยังเชื่อว่าโลกแบน และเราเลือกที่จะกดขี่ไม่ให้เขาแสดงความเห็นแทนที่จะช่วยอธิบายให้เขาเล็งเห็นถึงเหตุผลและข้อมูลต่างๆ เขาก็จะยังมีความเชื่อแบบผิดๆอยู่ และสังคมเราก็จะยังไม่มี “ฉันทามติ” ที่ก้าวหน้า

2. การรับฟังความเห็นของคนที่เห็นต่าง

เวลาพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการผนึกกำลังกับ #1ใน11ล้าน ที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการรับฟังความเห็นจาก #1ใน16ล้าน ที่โหวตรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

3. การตั้งคำถามที่แสวงหาจุดร่วมมากกว่าจุดต่าง

ในประเด็นที่สังคมถูกแบ่งเป็นสองขั้ว วิธีการตั้งคำถามส่งผลสำคัญต่อการหาฉันทามติ

ยกตัวอย่าง ไต้หวันกับประเด็น Grab แทนที่เขาจะถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ Grab ถูกกฎหมาย (ซึ่งมักนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ 50-50) เขาเปลี่ยนมาตั้งคำถามกับประชาชนว่าหลักการอะไรที่คุณเห็นชอบ คำตอบที่ได้คือฉันทามติจาก 2 ฝ่าย ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความปลอดภัยของผู้โดยสาร” และ “การลดอำนาจผูกขาด” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานของข้อเสนอนโยบายใหม่เกี่ยวกับ Grab

4. การไม่ยึดติดกับสีเสื้อ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม มักเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากหลายส่วน ที่อาจอยู่คนละมุมในประเด็นอื่น แต่ร่วมกันต่อสู้เพื่อประเด็นบางประเด็นที่เห็นตรงกัน

ถ้าในปี ค.ศ. 2013 พรรคแรงงานที่อังกฤษยึดติดกับสีเสื้อและเกมการเมือง จนถึงขั้นไม่โหวตเห็นชอบกับข้อเสนอเรื่องการขยายสิทธิสมรสให้กลุ่มเพศหลากหลายเพราะถูกเสนอโดยนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม กลุ่มเพศหลากหลายในอังกฤษก็จะยังแต่งงานกันไม่ได้ ณ วันนี้

แล้ว “ฉันทามติที่ก้าวหน้า” ควรมีอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าคำถามนี้ไม่ควรเป็นคำถามที่ใครคนเดียวเป็นคนตอบ

แต่สำหรับผม หลักการหนึ่งที่ผมหวังว่าสังคมไทยเรามีฉันทามติร่วมกันคือการที่ทุกคนมี “1 สิทธิ์ 1 เสียง”

ถ้าเราถามว่าเนื้อหาอะไรของกติกาปัจจุบัน ที่ขัดกับหลักการนี้มากที่สุด คำตอบคงหนีไม่พ้นเรื่องของวุฒิสภา
ในวันที่ทุกคะแนนในวันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศถูกแปรมาเป็น 500 เสียง ในขณะที่ ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยไม่กี่คนถูกแปรมาเป็น 250 เสียง ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี กติกาเรายังห่างไกลจากการที่ทุกคนมี “1 สิทธิ์ 1 เสียง”

แต่เราจะแก้ไขเรื่องวุฒิสภาอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล?

มาตรฐานประชาธิปไตยกำหนดว่าอำนาจที่วุฒิสภามี กับความยึดโยงกับประชาชนในที่มาของสมาชิก ต้องสอดคล้องกัน

ถ้าวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งที่ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อำนาจก็ไม่ควรเยอะ (เช่น วุฒิสภาของอังกฤษ ที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจแค่ยับยั้งกฎหมายได้ 1 ปี)

ถ้าวุฒิสภามีอำนาจเยอะ สมาชิกก็ควรมาจากการเลือกตั้ง (เช่น วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาที่ถอดถอนประธานาธิบดีได้ เลยต้องมีการจัดเลือกตั้งวุฒิสภาโดยตรง)

ปัญหาวุฒิสภาของไทยปัจจุบัน คือ ความไม่สมดุลระหว่างอำนาจที่มีเยอะ (ถึงขั้นเลือกนายกฯ) กับ ที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน (แต่งตั้งโดยกระบวนการที่ไม่แม้กระทั่งเปิดเผยให้ประชาชนรู้)

พอมองถึงทางออก หลายคนมักเสนอ 2 ทางเลือก แต่ทั้ง 2 ทางก็มีความท้าทายในตัว

ทางเลือกที่หนึ่ง คือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. เพื่อยกระดับความยึดโยงกับประชาชนให้สอดคล้องกับอำนาจที่สูง แต่คำถามที่ตามมา คือ จะจัดการเลือกตั้งแบบไหน ให้ไม่ทับซ้อนหรือได้ผลลัพธ์เดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.

ทางเลือกที่สอง คือ การลดอำนาจ ส.ว. เพื่อลดระดับอำนาจให้สอดคล้องกับที่มาที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่คำถามที่ตามมา คือ ใครจะรับหน้าที่คัดสรรสมาชิก ที่เรามั่นใจว่าจะมีความเป็นกลางจริง

ทางออกที่สาม ผมคิดว่าเราน่าจะพิจารณาอย่างจริงจัง ที่ไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างซ้ายหรือขวา แต่จะนำพาประเทศไปข้างหน้า คือ การปรับประเทศเป็นระบบ #สภาเดี่ยว ที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา แต่เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร

จากมุมของประวัติศาสตร์ ประเทศไทยก็เคยอยู่ภายใต้ระบบสภาเดี่ยวมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น เจตนารมณ์ดั้งเดิมของการมีวุฒิสภาในไทยคือการเป็น “พี่เลี้ยง” ให้ ส.ส. ที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย แต่ในเมื่อปัจจุบัน สังคมเราก็คุ้นเคยกับระบบประชาธิปไตยมากว่า 80 ปีแล้ว “พี่เลี้ยง” ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม?

จากมุมของกระแสโลก ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใช้ระบบการปกครองเหมือนประเทศไทยส่วนมากก็ใช้ระบบสภาเดี่ยว เมื่อเราตัดประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี (presidential) และประเทศที่เป็นสหพันธรัฐ (federal) ออกไป เราจะเหลือ 31 ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาและเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนประเทศไทย จากนี้ 2 ใน 3 (20) ของประเทศใช้ระบบสภาเดี่ยวและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา จาก 11 ประเทศที่ยังใช้ระบบสภาคู่ มีเพียงแค่ 2 จาก 11 ประเทศ ที่มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง คือ ประเทศอังกฤษ, ตรินิแดดและโตเบโก

จากมุมของข้อดีที่เราจะได้ ระบบสภาเดี่ยวจะทำให้การผ่านกฎหมายใหม่หรือแก้กฎมายเก่ามีความรวดเร็วยิ่งขึ้น (ซึ่งอาจเหมาะสมกับการตอบสนองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้น) และจะลดงบประมาณจากการไม่มีวุฒิสภาได้อย่างน้อย 1,200 ล้านบาทต่อปี

จากมุมของสิ่งที่เราจะเสียไปจากการไม่มีวุฒิสภา ผมมองว่ามีกลไกอื่นที่มาทดแทนได้และมีประสิทธิภาพมากกว่า

ถ้าเรากังวลว่าวุฒิสภา ควรมีอยู่เพื่อให้ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ เราจะแก้ด้วยการเพิ่มบทบาทของสภาวิชาชีพในระดับกรรมาธิการได้

ถ้าเรากังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาคหรือจังหวัดต่างๆ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นให้จังหวัดจัดการตนเองได้ไม่ดีกว่าหรือ

และถ้าเรากังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ผมกลับมองว่า สิ่งเดียวที่อันตรายกว่าการไม่มีวุฒิสภามาถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร คือการมีวุฒิสภาที่ให้ท้ายอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ…

การปรับเข้าสู่ระบบสภาเดี่ยว อาจไม่ใช้คำตอบสุดท้าย แต่อย่างน้อยควรเป็นคำถามที่เราตั้งกับสังคมไทย