เอกชนลดเป้าส่งออกเหลือลบ 1% | “ไลน์” ชิงตลาดออนไลน์ | บัญชีกลางเริ่มจ่ายเบี้ยคนชรา

แฟ้มข่าว

ปิดดีลควบ “ทหารไทยธนชาต”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) และธนาคารธนชาต ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว กระทรวงการคลังโดยกองทุนวายุภักษ์จะใช้เงิน 1.5 หมื่นล้านบาทในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน หลังเพิ่มทุนทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นอันดับที่ 3 ในสัดส่วน 18% ไอเอ็นจี 21% ธนชาต (TCAP) สัดส่วน 20% และหลังควบรวมทหารไทยเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของไทย มีสินทรัพย์ 1.9-2 ล้านล้านบาท ทำให้ระบบของสถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งมากขึ้น สามารถสู้กับแบงก์ต่างชาติได้ ด้านนายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่ากระบวนการทั้งหมดเสร็จปี 2564 ทำให้ธนาคารใหม่มีสินทรัพย์รวม 2 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้า 10 ล้านราย สาขา 900 สาขา และจำนวนพนักงาน 19,000 คน โครงสร้างสัดส่วนผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มไอเอ็นจีกรุ๊ป จากเนเธอร์แลนด์ 21.3% บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 20.4% กระทรวงการคลัง 18.4% สโกเทียแบงก์จากแคนาดา 5.6% และรายย่อย 34.3% โดยกระทรวงการคลังเตรียมวงเงินเพื่อคงสถานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลัก 15,000 ล้านบาท ขณะที่นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หากกระบวนการทั้งหมดและโครงการรวมกิจการได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. จึงจะเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการ โดยในเดือนกันยายน ธนาคารจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติรวมกิจการรวมถึงการเพิ่มทุน คาดการจัดหาเงินทุนประมาณ 130,000 ล้านบาท

แอลทีวีกู้ซื้อบ้านลบ 13%

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการติดตามภาวะอสังหาริมทรัพย์หลังมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) บังคับใช้ 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2562 พบว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกไม่มีผลกระทบ โดยครึ่งปีแรกเติบโต 14.2% โดยไตรมาสแรก มีการเร่งปล่อยสินเชื่อก่อนมาตรการแอลทีวีบังคับใช้ทำให้สินเชื่อโตถึง 27.9% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 สินเชื่อเติบโตเพียง 2.4% แต่การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป ติดลบ 13% มาจากคอนโดมิเนียมติดลบถึง 24.8% แต่กู้ซื้อบ้านเดี่ยวโต 3.3%

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลังมาตรการแอลทีวีออกมา มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ติดลบ 16% และช่วง 5 เดือนแรกการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแฝดเติบโต 9% สูงกว่าตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม 2 เท่า ด้วย 4 จุดเด่นที่ราคาถูกกว่าบ้านเดี่ยว 30% เมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียมขนาดครอบครัว นอกจากนี้ ยังอยู่ในทำเลที่ไม่ไกลจากแนวรถไฟฟ้าในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หันมาพัฒนาบ้านแฝดมากขึ้น คาดว่าปี 2562-2563 จะเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 6,500-7,500 ยูนิต หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 18%

บัญชีกลางเริ่มจ่ายเบี้ยคนชรา

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เริ่มจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการแล้ว นำร่องจังหวัดสิงห์บุรี สำหรับผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการจะจ่ายทุกวันที่ 10 ของเดือน หากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการ จะจ่ายในวันทำการก่อนวันหยุดนั้นๆ จากนั้นจะทยอยดำเนินการจ่ายเงินอีก 8 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี นครราชสีมา มุกดาหาร น่าน อุทัยธานี สมุทรสงคราม พังงา และสงขลา คาดว่าปีงบประมาณ 2563 จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการครบทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงการจ่ายเงินค่าป่วยการในเขตกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งจะทำให้การจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการครบทุกประเภท รวม 12.4 ล้านราย ตามเป้าหมายการดำเนินโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ตามโครงการอีเพย์เมนต์ ภาครัฐ ซึ่งกรมจะเริ่มโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมตามโครงการอีเพย์เมนต์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นมา

เอกชนลดเป้าส่งออกเหลือลบ 1%

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติคงคาดการณ์การเติบโตจีดีพีประเทศไทยปี 2562 ไว้ที่ 2.9-3.3% ส่วนการส่งออกคาดโตบวก 1 ถึงลบ 1% และเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.8-1.2% โดยประเมินว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเทียบไตรมาสแรกปี 2562 ที่จีดีพีโต 2.8% เนื่องจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ มีสัญญาณที่อ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยต่างประเทศที่เข้ามากระทบเยอะ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ผลจากสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบ 3 และจีนตอบโต้ด้วยการปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าในรอบ 11 ปี และติดตามผลหลังสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ภายในประเทศยังติดตามผลกระทบจากภัยแล้ง และฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ต่อเศรษฐกิจไทย

“ไลน์” ชิงตลาดออนไลน์

นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดออนไลน์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่า ตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ปีนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 470,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 16% ต่อปี จะส่งผลให้ปี 2565 ช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 8.2% เทียบกับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบ โดยรูปแบบอีมาร์เก็ตเพลส จะเป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดเติบโตแต่คนไทยยังพบปัญหาต่างๆ เช่น ความยุ่งยากในการเลือกซื้อสินค้า ไม่ได้ราคาที่ถูกจริง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้”ไลน์ช้อปปิ้ง จะร่วมกับไพรซ์ซ่า พัฒนาแพลตฟอร์ม พัฒนาการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานต่อเนื่องที่ 2.5 ล้านคนต่อเดือน

คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 8 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของผู้ใช้งานไลน์ทั่วประเทศ