อดีตพนักงาน สธ. ร้อง ‘อนุทิน’ หาช่องคืนอายุราชการบุคลากร2.4หมื่นคน แก้ปมเงินเดือนเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 นำบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข กว่า 200 คน จัดกิจกรรมรวมพลอดีตพนักงานของรัฐ เพื่อคัดค้านผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตาม นร 1012.3/68 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 พร้อมเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการ สธ. และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ขอคืนอายุราชการให้กับบุคลากร จำนวน 24,063 คน ในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ พร้อมแก้ไขเงินเดือนทีเ่หลื่อมล้ำ เพราะไม่ได้รับเงินบำนาญตามจำนวนปีที่ทำงานจริง เนื่องจากอายุงานหายไปถึง 4 ปี โดยมี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัด สธ. รับเรื่องแทน

ทั้งนี้ ภายในหนังสือระบุว่า ด้วยชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 จำนวน 24,063 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานของรัฐ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงได้ตามชอบธรรม ในกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ซึ่งได้ตั้งใจทำงาน เพื่อให้บริการดูแลรับใช้ประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุขตลอดระยะเวลา 19 ปี ซึ่งบุคลากรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนนี้ ประกอบด้วยบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ที่ได้ทำงานราชการตามนโยบายระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ และวินัยราชการ ในการบริการรับใช้ประชาชนในการดูแลสุขภาพตามหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากหลายวิชาชีพดังกล่าวในหน่วยงานราชการ สธ.มาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน

ผลจากการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ ให้พนักงานและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับข้าราชการใน สธ. เสมือนหนึ่งเป็นผู้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตั้งแต่วันที่ได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราว ทำให้ข้าราชการที่มาจากพนักงานราชการและลูกจ้าง ที่มีอายุราชการน้อยกว่ากลับได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการที่มาจากพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติงานมาก่อน โดยไม่ได้เกิดจากความรู้และความสามารถ และการศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น การที่สำนักงาน ก.พ.ได้มีหนังสือแจ้งผลพิจารณาของ อ.ก.พ.ที่เกี่ยวข้อง มายังปลัด สธ.ว่า “พนักงานของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปแล้ว ไม่สามารถดำเนินการกำหนดหลักเหณฑ์การเยียวยาให้แก่พนักงานของรัฐใน สธ.ได้” จึงเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมแก่พนักงานของรัฐและข้าราชการกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์การเยียวยา

ชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัด สธ. จึงขอเรียกร้องไปยังสำนักงาน ก.พ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้คืนอายุราชการ ขณะปฏิบัติงานเป็นพนักงานของรัฐ และเร่งออกหลักเกณฑ์การเยียวยาใหม่ให้แก่ อดีตพนักงานของรัฐใน สธ.และข้าราชการทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจาการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อคืนขวัญกำลังใจ คืนคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความสามััคคีในองค์กร เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณบริการ ให้กับประชาชนและการพัฒนาประเทศต่อไป

หลังจากนั้น นายมานพ ได้เข้าหารือร่วมกับ นพ.ไพศาล และนายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. ก่อนได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางในการเยียวยาบุคลากรกว่า 2 หมื่นคนนี้ เพราะเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมที่เคยกำหนดไว้ ณ ช่วงเวลานั้น แต่เรื่องนี้จะทำการตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลที่จะประกอบด้วย สธ. กระทรวงการคลัง และตัวแทนบุคลากรที่ร้องเรียน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับบุคลากรต่อไป

นายมานพ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ยังไม่มีผลการเยียวยาความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้ง 2 หมื่นกว่าคน และว่าอายุราชการหายไป 4 ปี มีผลทำให้เงินบำนาญที่จะไว้ใช้ในยามชรา มีไม่มาก และน้อยกว่ารุ่นน้องเมื่อเทียบกันแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพยาบาล แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานเงินเดือนน้อย ดังนั้นจะเดินหน้าร้องเรียน ก.พ. และนายกรัฐมนตรีต่อไป