“ครูจุ้ย” แนะ จัดความสำคัญแก้ปัญหาโรงเรียนระดับล่าง ก่อนคิดสร้าง“อีลิท สคูล”

“ครูจุ๊ย” แนะ จัดลำดับความสำคัญ แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กก่อนคิดถึง “อีลิท สคูล” ชี้ ควรเป็นวาระแห่งชาติด้วยซ้ำ เชื่อ สั่งการแบบบนลงล่างเป็นปัญหา ควรให้ชุมชน-โรงเรียน-เขตพื้นที่ตัดสินใจ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างโรงเรียนอิลีท ว่า ตนเข้าใจว่าการสร้างโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้น น่าจะยังมีอยู่ แต่คำถามหลักคือการบริหารราชการและการจัดลำดับความสำคัญ ว่าตอนนี้ควรทุ่มให้เด็กกลุ่มนี้หรือควรไปดูโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 18,000 แห่ง ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบชีวิตเด็ก 1.2 ล้านคนทั่วประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าถ้าทำเรื่องโรงเรียนอิลีทแล้วจะทำเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ แต่คำถามคือควรให้ความสำคัญกับอะไร ตนคิดว่าการตั้งโรงเรียนอิลีทจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแน่นอน หากเราไม่แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ต้องการการยกระดับไปพร้อมๆกัน โดยขณะนี้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กขยายตัวมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีเด็กที่จะเกิดน้อยลงเรื่อยๆ รัฐจะจัดการอย่างไร เพราะนี่เป็นเรื่องเร่งด่วนและควรเป็นวาระแห่งชาติด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่าทุกฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ และเชื่อว่าทุกฝ่ายหวังดีกับเด็ก แต่สาเหตุที่เรื่องนี้ยังไม่เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา เพราะแต่ละฝ่ายมีวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง และตกลงกันไม่ได้ว่าวิธีที่ควรจะเป็นนั้นคืออะไร

น.ส.กุลธิดากล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามจะยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งถ้าชุมชนเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องยุบก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดจากนโยบายที่สั่งลงมาให้ยุบ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งโรงเรียน ครู นักเรียน และครอบครัวในพื้นที่ คำถามคือถ้าต้องยุบ รัฐจะเข้าไปช่วยอะไรหรือไม่ เช่น โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อไปเรียนในอีกโรงเรียนหนึ่ง จะสามารถจัดรถรับส่งได้หรือไม่ หรือในถนนเส้นเดียวกัน มีโรงเรียน 4-5 แห่ง สามารถแบ่งปันทรัพยากรกันได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังติดขัดกฎระเบียบอยู่ ดังนั้น ตนคิดว่ามีทางออกมากมาย แต่ไม่สามารถใช้ทางออกเดียวกับทุกโรงเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังมองไม่เห็นการเยียวยาที่ชัดเจน ยังไม่เห็นว่าจะเกิดเวทีที่จับทุกภาคส่วนมาตกลงกัน ดังนั้น อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น โดยเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของชุมชน โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาที่สามารถตัดสินใจร่วมกันได้

เมื่อถามว่า หากปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กยังไม่ได้รับการแก้ไข มองว่ากรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคืออะไร น.ส.กุลธิดากล่าวว่า คงต้องตั้งคำถามว่าเด็ก 1.2 ล้านคนกำลังจะได้รับการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งที่เราสามารถทำได้ นั่นแปลว่าเด็กกลุ่มนี้แพ้ตั้งแต่ยังไม่เข้าตลาดแรงงาน ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กคือการที่เด็กย้ายเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ แล้วเราก็ทุ่มทรัพยากรให้โรงเรียนขนาดใหญ่ คำถามคือผลในระยะยาวจะเกิดอะไร ซึ่งที่แน่ๆ คือเด็กต้องเดินทาง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันสูง

เมื่อถามถึงความเหมาะสมของการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลแก่โรงเรียน โดยการคำนวณเป็นรายหัว น.ส.กุลธิดากล่าวว่า การอุดหนุนเงินไม่ควรมีแบบเดียว แต่ตอนนี้เป็นการจ่ายรายหัวกับทุกอย่าง ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะมีนโยบายที่ตั้งมาตรฐานขั้นต่ำของโรงเรียน ว่าโรงเรียนควรมีมาตรฐานอย่างไร ขอยกตัวอย่าง โรงเรียนขนาดใหญ่ที่สามารถจัดทรัพยากรได้ดี จ้างแม่ครัวทำอาหารให้เด็กพันคน แต่โรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็ก 40 คน จะเอาเงินที่ไหนไปจ้างแม่ครัว แถมภาระงานของบุคลากรยังเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าประเทศมีโรงเรียนลักษณะนี้จำนวนมาก ก็จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว เพราะมันสร้างคุณภาพไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจัดงบประมาณให้ตามมาตรฐานโรงเรียน แล้วให้ไปบริหารจัดการกันเอง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ แต่กฎระเบียบในปัจจุบันเป็นอุปสรรค ซึ่งตนเชื่อว่าปัญหานี้จะเริ่มคลี่คลายตัว เพราะเห็นสัญญาณว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามแก้ไขปัญหาอยู่

เมื่อถามว่า ความทับซ้อนของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของชุมชนหรือไม่ น.ส.กุลธิดากล่าวว่า กฎระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่นและความทับซ้อนเป็นปัญหาหนึ่ง แต่วิธีการคิดเชิงนโยบายเป็นปัญหาใหญ่กว่า ถ้ายังคิดว่านโยบายเป็นการสั่งจากข้างบนลงมา ก็เท่ากับไม่รับฟังว่าข้างล่างต้องการอะไรกันแน่