‘สมคิด’ จี้มหา’ลัยผลิตคนรองรับภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่19 สิงหาคม ที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยม อว. โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว. ผู้บริหาร อว. ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย (ทปอ.มทร.) สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ  โดยนายสมคิด กล่าวว่าตอนหนึ่ง ว่า อว. และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความสำคัญ ในการผลิตกำลังคนรองรับความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เพียงพอและไม่ตรงกับความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น และเร็วๆ นี้ประเทศเกาหลีใต้กำลังจะเข้ามา ดังนั้นขอให้มหาวิทยาหารือกัน ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้มีพลังในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้สำนักงบประมาณไปแล้วว่าถ้ามหาวิทยาลัยใดผลิตงานวิจัยไม่ตอบโจทย์ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศก็อาจจะไม่ได้งบ โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากขึ้น จึงต้องไปคิดว่าจะทำอะไรให้สอดคล้องได้บ้าง

นายสมคิดกล่าวต่อว่า อว. มีภารกิจหลักในการสร้างกำลังคน ให้ตรงตามความต้องการ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลเน้น อุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 S-Curve และธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่ต้องผลิตให้ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องไปคิด ว่าจะผลิตอะไรได้บ้าง ในสัดส่วนเท่าไร ในระบบผลิตได้กี่คน นอกระบบผลิตได้กี่คน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าฯ จะต้องทำงานร่วมกันบอกความต้องการกำลังคนในแต่ละสาขาว่า ต้องการจำนวนเท่าไร เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้ผลิตได้ถูกทาง โดยขอให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน ทำงานร่วมกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพอยู่แล้ว อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จะต้องเป็นความหวัง ส่วน มรภ. อยากให้เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและการเกษตร เพราะเป็นอนาคตของประเทศ  ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนเอง ก็สามารถของบจากรัฐได้หากผลิต และทำวิจัยในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ

“ตอนนี้ผมอยากให้ทุกคนเอาจริงเอาจัง อยากให้ทุกคนโฟกัส ว่าด้านไหนที่เราต้องการให้เป็นอนาคตข้างหน้า เราเอาทุกอย่างไว้ไม่ได้ งบประมาณมีอยู่แค่นี้ รัฐมนตรีว่าการ อว. ต้องเข้ามาช่วยดูแลใกล้ชิด ให้เอกชนเข้ามาช่วย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว เอกชนจะต้องมีสัดส่วนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ขอให้ทุกภาคส่วนคุยกันหารือกัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ขอให้คุยกัน ยิ่งคุยยิ่งได้งบ ไม่คุยกันไม่ได้ ตอนนี้เรื่องการผลิตกำลังคนสำคัญที่สุด ขอให้เร่งทำ ไม่เช่นนั้นไม่ทันการณ์ 4-5 ปีที่ผ่านมาเรารู้ดี ว่าโอกาสอยู่ที่หัวบันไดบ้าน ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้ฮ่องกงเกิดปัญหาคิดหรือว่าฐานการค้าการผลิตต่างๆ จะไม่ย้ายมาที่ไทย ยังไม่รวมกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง แต่ทั้งหมดถ้าเราไม่มีคนรองรับทุกอย่างจอด  ผมอยากให้ทุกคนทำตัวเป็นฐานหลัก ดึงต่างประเทศเข้ามาต่อแต้ม แล้วเรียนรู้จากเขา เพราะอนาคตของประเทศคือ นวัตกรรม และอองเทรอเพรอเนอ ซึ่งของไทยเราก็คือ สตาร์ตอัพ” นายสมคิดกล่าว

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยอมรับว่าผลิตกำลังคนไม่ทัน ซึ่งนอกจากการเรียนในหลักสูตรที่ได้ปริญญาแล้ว ยังเดินหน้าทำหลังสูตรที่ไม่ได้ปริญญา อาทิ หลักสูตรระยะสั้นต่างๆ ถือว่าไปได้ค่อนข้างดี ดังนั้นจึงอยากรวมกลุ่มมหาวิทยาลัยและทำร่วมกันว่าใครถนัดด้านใด ก็เปิดสอนด้านนั้น

นายเรืองเดช  วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าวว่า ขณะนี้ มรภ. ทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย แบ่งกลุ่มชัดเจนว่า ใครจะทำงานในเรื่องใด เน้นในเรื่องของการท่องเที่ยว และการเกษตร ผลิตกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานในพื้นที่รวมถึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่มากขึ้น โดยเตรียมจะทำแผนเพื่อเสนอให้ อว. และรัฐบาลพิจารณา