‘นิด้าโพล’ ชี้ส่วนใหญ่หนุนตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอม แม้เกินครึ่งไม่หลงเชื่อ

วันที่ 18 สิงหาคม 2562 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ (เว็บไซต์, อีเมล, ไลน์, เฟซบุ๊ก, ไอจี เป็นต้น) เรื่อง ข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,522 หน่วยตัวอย่าง

เกี่ยวกับการหลงเชื่อการกระทำกับข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ที่ได้รับจากสื่อออนไลน์ ความคิดเห็นและความกังวลต่อการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของนิด้าโพล ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการใช้สื่อออนไลน์ (เว็บไซต์, อีเมล, ไลน์, เฟซบุ๊ก, ไอจี เป็นต้น) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.86 ระบุว่า ใช้สื่อออนไลน์ และร้อยละ 27.14 ระบุว่า ไม่ใช้สื่อออนไลน์ ทั้งนี้ เมื่อถามผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ว่าหลงเชื่อข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ที่ได้รับจากสื่อออนไลน์หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.23 ระบุว่า ไม่เคยหลงเชื่อในข่าวปลอม รองลงมา ร้อยละ 27.59 ระบุว่า เคยหลงเชื่อในข่าวปลอม และร้อยละ 11.18 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่

และเมื่อถามผู้ที่ระบุว่าเคยหลงเชื่อและไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอม (เฟคนิวส์) จากสื่อออนไลน์ ว่ากระทำอย่างไรกับข่าวปลอม (เฟคนิวส์) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.09 ระบุว่า ไม่เคยแชร์ข่าวใดๆ รองลงมา ร้อยละ 24.42 ระบุว่า รู้ว่าเป็นข่าวปลอม และไม่แชร์ ร้อยละ 19.07 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ จึงไม่แชร์ ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เฉย ๆ เมื่อรู้ว่าข่าวที่แชร์ไปเป็นข่าวปลอม ร้อยละ 6.28 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ แต่แชร์ ร้อยละ 4.88 ระบุว่า ไม่รู้ว่าเป็นข่าวปลอม และแชร์ ร้อยละ 3.49 ระบุว่า รู้ว่าเป็นข่าวปลอม แต่แชร์ ร้อยละ 0.70 ระบุว่า เคยทำข่าวปลอม และแชร์ ร้อยละ 0.47 ระบุว่า พยายามแก้ปัญหาเมื่อรู้ว่าข่าวที่แชร์ไปเป็นข่าวปลอม และร้อยละ 0.23 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ อ่านโดยใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ว่าเป็นข่าวปลอมข่าวจริง

สำหรับความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าเคยหลงเชื่อและไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอม (เฟคนิวส์) จากสื่อออนไลน์ ต่อการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.98 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้มีการกลั่นกรองข่าวก่อนที่จะแพร่หลายไปวงกว้าง เพราะสมัยนี้มี อีเมล, ไลน์, เฟซบุ๊ก, ไอจี เกือบทุกคน จะได้มีการเกรงกลัวและไม่แชร์ข่าวปลอม รองลงมา ร้อยละ 8.14 ระบุว่า  ไม่เห็นด้วย เพราะ ควรใช้วิธีอื่นดีกว่า เช่น สร้างจิตสำนึกหรือให้ความรู้ การจัดตั้งศูนย์ฯ อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป และควรให้องค์กรอิสระเข้ามาจัดการมากกว่า และร้อยละ 4.88 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

และเมื่อถามถึงความกังวลของผู้ที่ระบุว่าเคยหลงเชื่อและไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอม (เฟคนิวส์) จากสื่อออนไลน์  เกี่ยวกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่อาจจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.84 ระบุว่า ไม่มีความกังวลเลย รองลงมา ร้อยละ 28.14 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกังวล ร้อยละ 27.91 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวล ร้อยละ 10.00 ระบุว่า มีความกังวลมาก และร้อยละ 5.11 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.02 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.27 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.31 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.55 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.45 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 10.18 มีอายุ 15 – 25 ปี ร้อยละ 16.29 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.54 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.74 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 19.25 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.02 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.94 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.79 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.25 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 25.23 สถานภาพโสด ร้อยละ 69.12 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.66 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.99 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส