ยื่นร้อง “หม่อมเต่า” ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อม 7 ข้อเสนอ หลักประกันระยะสั้น-ยาว

วันที่ 15 ส.ค. นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.)และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนและ สพท. จำนวน 30 คน ได้เดินทางมาขอเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เพื่อหารือถึงปัญหาด้านแรงงาน โดยสิ่งที่เครือข่ายเสนอ คือ เรื่องของนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานฯ และองค์กรแรงงานภาคีเครือข่ายเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่รัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายก่อนหน้านั้น

นายมนัส กล่าวว่า นอกจากนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน กังวลว่าจะเกิดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวในบุคคล 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานส่วนราชการ และผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ บางประเภทกิจการ จึงมีข้อเสนอต่อ รมว.แรงงานอีก 7 เรื่อง

คือ 1.ปฏิรูปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน คือ กรณีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน หรือพ้นจากการเป็นลูกจ้าง ไม่ว่ากรณีใดๆ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานในอัตราเดียวร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ระยะเวลาจ่าย 180 วัน 2.ปฏิรูปค่ารักษาพยาบาลกองทุนเงินทดแทนให้เท่าเทียมกับสิทธิการรักษาพยาบาลกองทุนอื่น อย่างกรณีลูกจ้างได้รับอุบัติเหตุ เจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานหรือตามคำสั่งของนายจ้างให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลจนกว่าสิ้นสุดการรักษา จากเดิมที่มีการตั้งเพดานไว้

3.รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่ม “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” 1 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 และขยายวงเงินช่วยเหลือลูกจ้าง กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้าง หรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามหลักเกณฑ์ คือ ทำงานครบ 120 เดือน แต่ไม่ถึง 3 ปี จ่าย 90 วัน ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จ่าย 180 วัน ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จ่าย 240 วัน และทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจ่าย 300 วัน

4.ปฏิรูปการจ้างงาน หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐให้เป็นการจ้างแรงงานให้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายกองทุนเงินทดแทน เพราะปัจจุบันมีการจ้างงานหลายรูปแบบ ทำให้ลูกจ้างส่วนราชการไม่มีความมั่นคงในการทำงาน และสภาพการจ้างงานไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน

5.รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ 6.รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน มาตรการระยะยาว 4 ปี และปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์การอิสระ และ 7.ค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้มีโครงสร้างค่าจ้างประจำปีหรือตามทักษะฝีมือแรงงาน