214 ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นซักฟอก“บิ๊กตู่”แบบไม่ลงมติ ‘ชวน’แฉ นายกฯหนีสภาไม่เคยแจงเหตุผล

214 ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่น ปธ.สภา ขอเปิดซักฟอก “บิ๊กตู่”แบบไม่ลงมติ กรณีถวายสัตย์ไม่ครบ “ชวน” ขอตรวจความถูกต้อง ขีดเส้นบรรจุวาระภายในเดือนนี้ แฉ ที่ผ่านมานายกฯหนีสภา ไม่เคยแจ้งเหตุผล ด้าน “สุทิน” ยันพร้อมถอนญัตติให้ หากครม.แก้ไขให้ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่รัฐสภา เกียกกาย พรรคฝ่ายค้าน นำโดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นำรายชื่อ 214 ส.ส. 7 พรรคฝ่ายค้าน ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม นำครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนด้วยถ้อยคำตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ อันเป็นแบบแผน และขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เป็นการกระทำต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา ครม.และศาล กรณีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชนทั่วไปและ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับ แต่ก็ยังไม่แก้ไขให้ถูกต้อง กลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน จึงเกิดเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่จนส่งผลต่อเนื่องถึงความถูกต้องสมบูรณ์ของการแถลงนโยบายของครม.ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา อีกทั้งการแถลงนโยบายในครั้งนั้นก็ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 อีกด้วย จึงขอเสนอเปิดอภิปรายทั่วไป เพราะหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้

นายชวน กล่าวว่า กระบวนการตามมาตรา 152 เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป ถือเป็นเรื่องที่ใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ของเดิมไม่มีกำหนดไว้ ซึ่งระเบียบตามมาตราดังกล่าว จะยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ มีแต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงต้องอนุโลมตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดิมไปก่อน และจากนี้ตนจะนำไปมอบให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะรับผิดชอบเรื่องกระทู้และญัตติตรวจสอบความถูกต้อง หากไม่มีอะไรต้องแก้ไข ตนจะแจ้งให้ผู้เสนอญัตติทรายภายใน 7 วัน ก่อนที่จะนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้ครม. ทราบต่อไป ซึ่งคาดว่า น่าจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามญัตตินี้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาต้องยึดตามข้อกฏหมายเป็นหลัก รัฐสภาไม่มีแนวทางอื่นนอกจากทำตามข้อบังคับการประชุม ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จะมาตอบเองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องต้องไปถามรัฐบาลเอง อย่างกระทู้ถาม ผมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องมาตอบ เพราะการไม่มาชี้แจงต่อสภาตามหลักการต้องแจ้งถึงเหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 150 กำหนด หากครม.เห็นว่า เรื่องนั้น ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงก็ต้องแจ้งมา อย่างไรก็ตาม ผมจะให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งไปยังท่านนายกฯให้ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ท่านนายกฯไม่เคยแจ้งเหตุผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมายังสภาฯเลย

ด้าน นายสุทิน กล่าวว่า จากนี้คงต้องรอการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งก่อนที่สภาฯจะเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไป หากพล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามที่เคยระบุไว้ให้ลุล่วงและคลายกังวล พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ติดใจ และพร้อมถอนญัตติดังกล่าวให้ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ดำเนินการแก้ไข และปฏิเสธที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสภาฯ ตามญัตติดังกล่าว จะถือว่าพล.อ.ประยุทธ์จงใจเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการต่อไป พรรคฝ่ายค้านอาจพิจารณาช่องทางเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งกระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการกระทำสิ่งที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม หรือช่องทางของสภาผู้แทนรษฎร ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อไม่ไว้วางใจนายกฯ ดังนั้น ตนยืนยันว่ากรณีการชี้แจงนายกฯไม่สามารถเลี่ยงการชี้แจง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นมาชี้แจงแทนตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถใช้ข้ออ้างกรณีที่มีบุคคลยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีดังกล่าวและต้องรอผลการตรวจสอบ

นายสุทิน กล่าวว่า สำหรับการใช้เวลาอภิปรายในญัตติดังกล่าว ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเนื้อหาหรือรายละเอียดไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริต อย่างไรก็ตาม หากญัตติดังกล่าวได้รับการบรรจุในวาระประชุม พรรคฝ่ายค้านจะขอเวลาอภิปราย อย่างน้อย 2 วัน และมากสุดไม่เกิน 3 วัน และจะเป็นสิทธิของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่จะเป็นผู้อภิปรายได้เท่านั้น ส่วนส.ส.พรรครัฐบาลไม่มีสิทธิอภิปราย ส่วนที่ต้องใช้เวลาจำนวนมากนั้น เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องซักถามและมีรายละเอียดที่ต้องได้รับคำชี้แจง โดยเฉพาะกรณีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม ที่ต้องระบุรายละเอียดของแหล่งที่มารายได้ ซึ่งจะนำมาใช้ในนโยบายด้านต่างๆ