จ่อยื่นญัตติอภิปราย ‘บิ๊กตู่’ ปมถวายสัตย์ฯ-แถลงนโยบายไม่แจงที่มารายได้

ฝ่ายค้าน จ่อยื่นญัตติอภิปราย ‘บิ๊กตู่’ ปมถวายสัตย์ฯ-แถลงนโยบายไม่แจงที่มารายได้ ขู่ หลบเลี่ยงเจอผิดจริยธรรม

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิป ฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่าภายในสัปดาห์นี้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดการอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์? จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อประเด็นการกระทำของนายกฯ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาทิ การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่ไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งนำมาใช้ในนโยบายของรัฐบาลด้านต่างๆ , การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปดังกล่าว เป็นมาตรการที่ พล.อ.ประยุทธ์? ไม่สามารถหลบเลี่ยงการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือการหลบเลี่ยงตอบกระทู้ถามสดของสมาชิกสภาฯ ได้

นายสุทิน กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการยื่นญัตติดังกล่าว จะเข้าเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กำหนดที่กำหนดว่าให้เป็นการสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาล เพราะกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นการสอบถามข้อเท็จจริงที่เป็นต้นทางของการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าหลักการปฏิบัติของมาตราดังกล่าว ที่เขียนไว้ในร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาจะไม่เป็นปัญหาต่อการยื่นญัตติดังกล่าว เพราะเชื่อว่าข้อบังคับการประชุมสภาฯ จะแล้วเสร็จสัปดาห์นี้ หรือหากไม่แล้วเสร็จ สามารถยื่นญัตติรอไว้ได้

นายสุทิน ระบุว่า มั่นใจว่าเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติดังกล่าวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์? จะไม่มีทางอ้างความไม่พร้อมหรือติดภารกิจราชการ เพื่อหลบเลี่ยงการชี้แจงข้อเท็จจริงตามญัตติที่เสนอได้ เพราะหากหลบเลี่ยง จะถือว่าเป็นการกระทำที่จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้มาตรา 152 จะไม่เขียนมาตรการลงโทษ แต่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถพิจารณาเอาผิดว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมได้ ขณะเดียวกันเมื่อประธานสภาฯ รับญัตติไว้พิจารณาแล้วต้องใช้ดุลยพินิจบรรจุเรื่องไว้ในวาระการประชุมที่เหมาะสม ไม่ใช่บรรจุไว้ท้ายสุดของวาระประชุม

เมื่อถามว่าการใช้กลไกมาตรา 152 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้ปีละหนึ่งครั้ง มองว่าหากยื่นเรื่องดังกล่าวจะเสียโอกาสในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เชื่อว่าไม่เสียโอกาส และเป็นการยื่นญัตติที่คุ้มค่า

เมื่อถามว่าผลของญัตติดังกล่าวจะเข้าข่ายชี้นำการพิจารณาขององค์กรตรวจสอบที่รับเรื่องถวายสัตย์ฯ ไว้พิจารณาหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่การชี้นำ เพราะกระบวนการของสภาฯ เป็นขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้ ตามสิทธิ อย่างไรก็ตามผลของการชี้แจงดังกล่าวของนายกฯ หากพบประเด็นที่มีน้ำหนักต่อการยื่นเป็นข้อมูลให้องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบสามารถดำเนินการยื่นเป็นข้อมูลเพิ่มเติมได้