ปิยบุตร อยากให้ศาลรธน.อดทนต่อคำวิจารณ์ เร่งกู้คืนความเชื่อมั่น เพื่อดำรงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 14 ส.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา เป็นประธานที่ประชุมได้พิจารณาวาระรับทราบรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายสนับสนุนการมีอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญในการรักษากฎหมายสูงสุดของประเทศ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเสียงข้างมาก คุ้มครองเสียงข้างน้อย คุ้มครองสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นธรรมชาติที่ศาลรัฐธรรมนูญมักเผชิญหน้ากับสภาอยู่เสมอ ในส่วนของสภามีความชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติด้วย พวกเราจึงต้องแสวงหาความชอบธรรมเช่นกัน

นายปิยบุตร กล่าวว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องออกแบบให้เชื่อมโยงประชาชนผ่านกระบวนการทางสภา เช่น ประเทศเยอรมนี แต่ในประเทศไทยที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เชื่อมโยงกระบวนการทางสภา ส.ส.แทบไม่มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะมีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง และให้ส.ว. ลงมติรับรอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตัวศาลเองมีที่มาที่ไม่เชื่อมโยงสภาเลย

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ในรายงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รวบรวมสถิติคดีตั้งแต่ปี 2551 – 2560 พบว่าตั้งแต่ปี 2557 จำนวนคำร้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะปี 2557 เป็นปีที่มีการรัฐประหาร ซึ่งปกติเวลารัฐประหารสิ่งแรกๆ ที่คณะยึดอำนาจต้องทำ คือยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ เพื่อใช้อำนาจตัวเองตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนมูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องแสดงบทบาทไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และต้องบอกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

ดังนั้น เมื่อมีการรัฐประหารนอกจากคณะยึดอำนาจจะฉีกรัฐธรรมนูญ ยังต้องออกประกาศยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่ปรากฎว่าการรัฐประหารปี 2557 คณะยึดอำนาจปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อซึ่งถือว่าแปลกประหลาด
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ แบบนี้จะเข้าไปตรวจสอบองค์กรที่มาจากการยึดอำนาจได้หรือไม่อย่างไร เมื่อสภาพการณ์ทางรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ จึงไม่ต้องสงสัยถึงจำนวนคดีที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดว่าสัมพันธ์กับการยึดอำนาจในปี 2557 เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รับรองแล้วว่าคสช.ถูกเสมอจึงบีบบังคับศาลรัฐธรรมนูญให้ไม่มีโอกาสพิทักษ์รัฐธรรมนูญในช่วงคสช.ยึดอำนาจ ต่อให้อยากตรวจสอบคณะรัฐประหารอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2557 รับรองไว้หมด เป็นปัญหาที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานไม่ได้

“เวลารัฐประหารเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ 2560 มีรัฐบาลใหม่แล้วหากการถวายสัตย์สมบูรณ์จริง วันนี้เสียงปืนสงบลงแล้ว ถึงเวลาที่กฎหมายกลับมาดังขึ้นเหมือนเดิมได้หรือไม่ วันนี้ยังมีประกาศคำสั่งคสช.จำนวนมากมีสถานะเทียบเท่าพ.ร.บ. มีเนื้อหาหลายอย่างขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคนร่างรัฐธรรมนูญมองการณ์ไกลว่าอะไรที่ชอบในรัฐธรรมนูญ 2557 ให้ชอบในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ดังนั้น เราจะพยายามผลักดันแก้ไขให้ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตรวจสอบคำสั่งคสช.ให้ได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร อภิปรายถึงการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรา 38 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาว่าการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญแบบไหนจึงจะเข้าเงื่อนไข ว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตไม่หยาบคาย ไม่อาฆาตมาดร้าย ยกตัวอย่าง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ถามว่าตนวิจารณ์ได้หรือไม่ เพราะเป็นทางเดียวที่ตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนเห็นว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องดีที่จะช่วยปรับปรุงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

“อยากให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อดทน อดกลั้น ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย เราเป็นนักการเมืองธรรมดาไม่มีอาวุธจะไปยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยได้ แต่การถูกวิจารณ์จะเป็นเกาะคุ้มกันศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน จึงอยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลัก ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน และช่วยประคับคองบ้านเมืองในยามหัวเลี้ยวหัวต่อ ผมอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญดำรงต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายปิยบุตร กล่าว