สั่งคุมเข้มปล่อยกู้รายได้น้อย | ธปท.ชี้ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจยังซึม | “บีโอไอ” โชว์ยอดลงทุนพุ่งสูง

แฟ้มข่าว

สั่งคุมเข้มปล่อยกู้รายได้น้อย

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน เปิดเผยว่า จากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมาถึงกรณีที่ ธปท.กังวลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ในระดับสูงที่ 78.7% ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ธปท.จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) แต่ยังต้องสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพียงแต่ต้องให้สินเชื่อเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ และต้องไม่กระตุ้นส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้เกินตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย ได้แก่ กลุ่มเริ่มทำงาน (first jobber) กลุ่มใกล้เกษียณอายุ และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เบื้องต้นจึงมีความเห็นร่วมกันว่าภาระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) ของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท รวมทุกธนาคารพาณิชย์ไม่ควรเกิน 70% เช่น หากมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน สามารถมีหนี้ทุกอย่างไม่เกิน 21,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้เหลือรายได้ในการดำรงชีวิต 9,000 บาทต่อเดือน

เอกชนเมินยื่นซองชิงแปลงเอ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ภายหลังเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลงเอ ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ขนาด 32 ไร่ มูลค่าลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ว่า หลังปิดรับข้อเสนอร่วมลงทุนในเวลา 15.00 น. ซึ่งเปิดรับข้อเสนอตั้งแต่เวลา 09.00 น. ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนแม้แต่รายเดียว ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ คาดว่าเป็นเพราะรอบๆ แปลงเอยังไม่มีการพัฒนาและต้องอาศัยจำนวนผู้ใช้บริการจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและผู้เดินทางเข้าออกสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเอกชนอาจเห็นว่าไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง ดังนั้น การเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงเอ คงไม่ทันการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อในเดือนมกราคม 2564 แน่นอน แต่สถานีกลางบางซื่อยังเปิดตามแผนในเดือนดังกล่าว

ธปท.ชี้ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจยังซึม

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ 49.1 จากเดือนมิถุนายนที่ 49.4 จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่ลดลงในด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และการจ้างงานเป็นสำคัญ นำโดยกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกลุ่มผลิตปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติกที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและปริมาณการผลิตลดลงมากตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความไม่แน่นอนของภาวะสงครามการค้า ขณะที่ดัชนีของภาคที่มิใช่การผลิตปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่พักแรม และบริการร้านอาหารที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นตามปริมาณการให้บริการ และผลประกอบการที่ดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเดือนนี้ดัชนีคำสั่งซื้ออยู่ที่ 47.1 ต้นทุนอยู่ที่ 42.9 การลงทุน 55.2 การจ้างงาน 50.0 การผลิต 48.7 และผลประกอบ 50.1 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม-ตุลาคม) ปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 53.7 จากเดือนมิถุนายนที่ 56.3 อย่างไรก็ดี ดัชนียังอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ในระยะต่อไป

จี้ยกระดับท่าเรือเจ้าพระยา

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารกรมเจ้าท่า ว่า จะพัฒนาระบบการขนส่งเชื่อมต่อกัน ทั้งทางน้ำและทางบก หาวิธีทำให้ท่าเรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ รวมถึงเชื่อมต่อทางอากาศ สำหรับนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาท่าเรือปัจจุบัน 19 ท่า เบื้องต้นจะพัฒนาท่าเรือสาทรเป็นท่าเรือต้นแบบ เป็นสถานีท่าเรือปิด เหมือนสถานีรถไฟหรือสนามบิน ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท จากงบประมาณรวม 800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าเรือทั้งหมด โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่ได้ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปี 2563-2564 เพื่อแบ่งเบาความหนาแน่นในการเดินทางผ่านทางบกและทางราง โดยปัจจุบันพบว่าเรือโดยสารในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล การเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ สภาพตัวเรือที่บริการอาจไม่ดีนัก ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าไปเจรจาขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีการปรับปรุงสภาพให้ดี แก้ปัญหารุกล้ำใกล้ท่าน้ำและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

“บีโอไอ” โชว์ยอดลงทุนพุ่งสูง

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรกของปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 758 โครงการ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 707 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 232,610 ล้านบาท ลดลง 17% เนื่องจากปี 2561 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ คือ โครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุนสูง ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีจำนวน 468 โครงการ เพิ่มขึ้น 4% มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 109% หรือกว่าเท่าตัว ด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจาก 70,530 ล้านบาท เป็น 147,169 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 42,454 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% ของมูลค่าเอฟดีไอทั้งหมด

ตามด้วยจีน 24,278 ล้านบาท สวิตเซอร์แลนด์ 11,443 ล้านบาท สิงคโปร์ 7,615 ล้านบาท และฮ่องกง 7,534 ล้านบาท