บิ๊กป้อม รับลูกถกงบบูรณาการน้ำ วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท มอบ สทนช. จัดลำดับความสำคัญ

“บิ๊กป้อม” ห่วงใยปัญหาภัยแล้ง เน้น 5 มาตราการหลัก กำชับทุกหน่วยงานเร่งมือช่วยเหลือ ประพร้อมรับลูกพิจารณางบบูรณาการน้ำ วงเงินงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท มอบ สทนช. จัดลำดับความสำคัญก่อนเสนอสำนักงบฯพิจารณา

วันที่ 14 สิงหาคม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปี 2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เร่งดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในส่วนของมาตรการเร่งด่วน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้สามารถช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที พร้อมมอบ สทนช. ติดตามผลการดำเนินการรายงาน ครม. ต่อไป ในส่วนของการพิจารณางบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2563 ได้กำชับให้การพิจารณาแผนงานสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำและนโยบายของรัฐบาล ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด จัดลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ จึงมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และ สทนช.พิจารณาความซ้ำซ้อนร่วมกับงบบูรณาการอื่นๆ งบตามภารกิจของหน่วยงาน และงบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย

มาตรการเร่งด่วนที่ได้ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 5 มาตราการหลัก  มาตราการแรก ปฏิบัติการฝนหลวง  เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 11 สิงหาคม 2562 จำนวน 4,214 เที่ยวบิน และมีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด

มาตราการที่สอง การสำรวจพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและการสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำสำหรับพื้นที่นาปี-พืชไร่ จำนวน 214 เครื่อง และ สำหรับการอุปโภคบริโภค 71 เครื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ทำการสูบน้ำ 40,154,373 ลูกบาศก์เมตร แจกจ่ายน้ำ 9,660,471 ลิตรให้กับครัวเรือน 384,346 ครัวเรือน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจกจ่ายน้ำ 8,091,370 ลิตร เป็นต้น

มาตรการที่สาม การพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ สทนช. ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องวางแผนการระบายน้ำเป็นรายอ่างเก็บน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. – 31 ต.ค. 2562 ในลักษณะเช่นเดียวกับการปรับลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีเงื่อนไขคาดการณ์ปริมาณน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำใช้ปีฝนแล้ง และน้ำในเขื่อนปลายฤดูฝนจะต้องไม่น้อยกว่าระดับน้ำต่ำสุด

มาตรการที่ 4 การปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มาตราการที่ห้า แผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อการประปานครหลวง

ในส่วนของมาตรการที่จะต้องเร่งรัดหน่วยงานดำเนินการ ประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และแนวทางการแก้ไขให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนในพื้นที่รับทราบในภาพรวมโดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ และการเร่งรัดผลการดำเนินงานจากหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 จำนวน 144 โครงการ เป็นงานในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จำนวน 44 โครงการ มีผลการดำเนินการ 31% กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 26 โครงการ ผลการดำเนินการ 73% การประปาส่วนภูมิภาค 2 โครงการ มีผลการดำเนินการ 48% กรมพัฒนาที่ดิน 1 โครงการ มีผลการดำเนินการ 11% และมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 28 โครงการ และโครงการที่อยู่ในความร่วมมือระหว่างกองทัพบกและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ อีก 43 โครงการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมวันนี้ยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำมรสวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งก่อสร้างโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) เมื่อปี พ.ศ. 2539 ความจุเก็บกักน้ำ 1.6 ล้าน ลบ.ม. ที่เกิดการซึมของน้ำผ่านใต้ฐานรากอ่างเก็บน้ำ (เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2562 เวลาประมาณ 04.00 น.) สถานการณ์ปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำได้เร่งระบายน้ำผ่านทางอาคารระบายน้ำและทางระบายน้ำล้น เพื่อลดระดับน้ำในอ่าง และจากการประเมินสถานการณ์ ปริมาณน้ำที่ระบายไม่ส่งผลกระทบน้ำเอ่อล้นลำน้ำเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่การเกษตรบริเวณท้ายอ่าง ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่อยู่ในความรับผิดชอบตั้งแต่ในขั้นตอนของการออกแบบ การใช้ประโยชน์และการบำรุงรักษาให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่ 1 พ.ค. – 4 ส.ค.2562 มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 3% สำหรับการคาดการณ์ฝนในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือนสิงหาคม ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก เดือนกันยายน ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ ส่วนเดือนตุลาคม ปริมาณฝนในทุกภาค ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 10% ในส่วนของการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนวิภาในช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก มีฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขื่อนใหญ่มีน้ำเพิ่ม 1,560 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน มีน้ำผิวดินทั้งประเทศ 39,669 ล้าน ลบ.ม. (48%) โดยภาคกลาง เหนือ อีสาน และตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ถึง 26 แห่ง ด้านสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 1,303 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 24 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีน้ำมาเติม จะระบายได้อีก 54 วัน

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะจะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ในต้นสัปดาห์หน้านั้น สถานการณ์ล่าสุด ที่จ.สุรินทร์ พบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และกระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาล เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตประปา แหล่งน้ำสำคัญ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง มีน้ำน้อยเนื่องจากฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้การผลิตน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ไม่เพียงพอ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการ (Operation Room) ภัยแล้งจังหวัดสุรินทร์ ปี 2562 เพื่อกำกับการช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย และปฏิบัติการฝนหลวงดำเนินการตั้งแต่เดือนเม.ย.62 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังประสานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาช่วยขุดเจาะน้ำบาดาลในโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ 8 บ่อ รวมถึงใช้รถบรรทุกน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุรินทร์และส่วนราชการต่างๆ ส่งน้ำให้โรงพยาบาลเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ในส่วนของ จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันพบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เนื่องจากสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่และกลาง มีปริมาณน้ำน้อย โดยเฉพาะอ่างฯ ห้วยจระเข้มาก และอ่างฯ ห้วยตลาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาบุรีรัมย์ จำเป็นต้องหาน้ำมาเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตประปา แนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยจัดทำฝนหลวงตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.62 – ปัจจุบัน ปรับลดแรงดันน้ำประปาในช่วงกลางคืน ขุดชักเปิดทางน้ำภายในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดเพื่อให้ไหลเข้าบริเวณโรงสูบของการประปาโดยตรง และจัดหาแหล่งน้ำสำรองโดยผันน้ำจากเหมืองหินเอกชนมาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำแผนเร่งด่วนเจาะบ่อน้ำบาดาล บริเวณรอบอ่างฯ

ในส่วนของในส่วนของการพิจารณาการปรับปรุงแผนงบประมาณรายจ่าย แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2563 ซึ่งเป็นการทบทวนแผนที่คณะกรรมการฯ ชุดเดิมได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ประชุมวันนี้ ได้ยืนยันหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ โดยหน่วยรับงบประมาณต้องส่งคำของบประมาณผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองและเสนอประธานให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสำนักงบประมาณพิจารณา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และในวันนี้ สทนช. ได้รวบรวมแผนงบประมาณด้านน้ำที่หน่วยงานปรับปรุงคำขอเพิ่มเติมจากที่อนุมัติไว้เดิม เพื่อเสนอคณะกรรมการ พิจารณา จำนวน 17,283 รายการ คิดเป็นวงเงินประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ สทนช. จะได้นำแผนงานที่ผ่านมติที่ประชุมไปจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์และข้อสังเกตในที่ประชุม จากนั้นจะนำเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาและเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

มติชนออนไลน์