‘อนาคตใหม่’ ลุย ‘พ.ร.บ.ทหาร’จ่อรณรงค์ทั่วประเทศ ​ก.ย.​นี้-คาดเปิดประชุมสมัย 2 ยื่นสภาทันที

“อนาคตใหม่” เปิดไทม์ไลน์ ลุย “พ.ร.บ.รับราชการทหาร” ตั้ง​คกก.พิจารณา​ จ่อรณรงค์ประชาชน-เยาวชน​ทั่วประเทศ​ ก.ย.​ นี้​ คาดเปิดประชุมสภาสมัย 2 เดือน​ พ.ย.​ ยื่นสภาทันที

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม​ ทีมประชาสัมพันธ์พรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า ที่อาคารไทยซัมมิท​ พรรคอนาคตใหม่จัดอบรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประจำสัปดาห์ มีการแจ้งวาระการประชุมที่สำคัญ ตลอดจนการปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ โดยในวันนี้ มีการหารือและมีมติเรื่องการเตรียมเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหาร

ทั้งนี้ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในการจัดอบรมซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์นั้น ส.ส.ท่านใดมีข้อเสนอแนะต่างๆ ก็นำมาพูดคุยกัน โดยในวันนี้ นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ​(พ.ร.บ.)​รับราชการทหาร พ.ศ…. เข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา และมีมติว่าจะผลักดันเรื่องนี้ โดยจะนำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ไปประกบกับร่างของพรรค มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาชุดหนึ่ง ดำเนินการแล้วเสร็จใน 15 วัน เพื่อออกมาเป็น ร่าง พ.ร.บ. ในขั้นต้น

“คาดว่าช่วงปลายเดือนสิงหาคม พรรคอนาคตใหม่จะได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเบื้องต้น จากนั้น ราวเดือนกันยายนจะนำร่างไปรณรงค์กับพี่น้องประชาชน กับเยาวชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วประเทศ ใครมีความเห็นอย่างไร ต้องการปรับปรุงอะไร เราจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และทำการแก้ไขให้สอดคล้อง อย่างไรก็ตาม ยังคงยึดเอานโยบายพรรคที่ได้เคยหาเสียงแล้วเป็นหลัก ส่วนในเรื่องรายละเอียด เอาไว้ไปแก้ไขในระดับกฎกระทรวง ทั้งนี้ คาดว่าเปิดประชุมสภาสมัยที่ 2 คือ เดือนพฤศจิกายน จะสามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมสภาได้ทันที” พล.ท.พงศกร กล่าว

สำหรับที่ประชุม ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ประจำสัปดาห์ ได้ทำการจำลองระบบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาใช้ โดยในการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ นั้น เปิดโอกาสให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการนโยบาย, สมาชิกพรรค สามารถเสนอร่างกฎหมายให้ที่ประชุม ส.ส. พิจารณา และเมื่อที่ประชุมมีมติรับหลักการแล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในรายละเอียด ตามระยะเวลาที่กำหนด ก่อนจะนำกลับมาให้ที่ประชุม ส.ส.พิจารณา เพื่อเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป ทั้งนี้ นอกจากร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการรับราชการทหารแล้ว ปีกแรงงานของพรรคอนาคตใหม่ ก็เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้พิจารณาด้วย