‘สุริยะ’สั่งดึงทัพญี่ปุ่นดูตัวเอสเอ็มอีไทย ปั้น5หมื่นเกษตรอุตฯ

“สุริยะ”ดันเอสเอ็มอีขยายตลาดต่างประเทศ นำร่องดึงนักลงทุนญี่ปุ่น 300 ราย จับคู่ธุรกิจขยายตลาด-ร่วมลงทุน ตั้งเป้าพัฒนาสตาร์ตอัพ-เอสเอ็มอี 5 หมื่นราย บูมเกษตรอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ออกมาตรการสร้างโอกาสทางการตลาดต่างประเทศให้กับเอสเอ็มอี โดยในเบื้องต้นจะใช้โอกาสในช่วงการจัดงานครบรอบ 10 ปี ความร่วมมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือ “Japan Desk” วันที่ 28 สิงหาคมนี้ โดยจะจัดให้ทำบิสซิเนส แมทชิ่ง ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น นักลงทุนญี่ปุ่นมาร่วมงาน 300 รายจาก 22 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่นที่กสอ.ลงนามความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้ ในจำนวนนี้จะมีประมาณ 20-30 ราย เข้าร่วมการบิสซิเนส แมทชิ่ง กับผู้ประกอบการไทยกว่า 100 ราย หรือผู้ประกอบการญี่ปุ่น 1 ราย จับคู่กับผู้ประกอบการไทย 3 ราย เพื่อขยายช่องทางการค้า และการลงทุนร่วมกัน

นายสุริยะกล่าวว่า นอกจากนี้จะให้กสอ.จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น และจัดกิจกรรมชักจูงการลงุทน(โรดโชว์) เชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ขยายการลงทุนและโอกาสทางการตลาด รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศไม่ให้ย้ายฐานการผลิต และขยายการลงทุนในไทยต่อไป

นายสุริยะกล่าวว่า ขณะเดียวกันได้มอบนโยบายให้ กสอ. เร่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย(เอส-เคิร์ฟ) สร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตร เน้นเกษตรหลักแต่ละพื้นที่พร้อมผลักดันสู่เกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและมาตรการทางการเงินต่างๆ รวมถึงยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการนำวัตถุดิบที่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปสร้างคุณค่าใหม่ ใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ ไอ-อินดัสทรี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภายในและภายนอกให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการมากขึ้น

นายสุริยะกล่าวถึงมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้กลไกประชารัฐ ส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างอุปกรณ์และภาชนะในการกักเก็บน้ำในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมาย 1 หมื่นครัวเรือนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม จาก 4% เหลือ 1% เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งการพักชำระหนี้และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง

“ โดยในปี 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอี จำนวน 5 หมื่นราย โดยเน้นการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม สตาร์ตอัพ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลและการตลาดนำการส่งเสริม”นายสุริยะกล่าว