ลูกเรือประมงที่ถูกลอยแพที่โซมาเลีย เข้าพบ รมว.แรงงาน หลังกลับถึงไทย

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ห้องประชุมประสงค์ระณนันท์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีแรงงานชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ โทรวีดีโอคอลล์มาหาเพื่อนหมู่บ้านเดียวกันที่ทำงานอยู่ จ.ภูเก็ต ให้ช่วยประสานหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วน ภายหลังได้ถูกนายจ้างหลอกไปทำงานประมงที่ประเทศโซมาเลีย และไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ทั้งยังปล่อยลอยแพไว้กลางทะเลชายฝั่งเขตโบซาโซ่ ประเทศโซมาเลีย จนอาหารและน้ำ ใกล้จะหมดไม่มีทางกลับ กระทั่งรัฐบาลไทย ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือจนสามารถนำลูกเรือจำนวน 18 รายกลับมายังไทยได้เมื่อเวลา 06.30 น.ที่ผ่านมา พร้อมรัฐบาลยังได้จัดหน่วยงานไปรับลูกเรือที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย ผู้แทน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อลูกเรือเดินทางมาถึงกระทรวงแรงงาน ได้เข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมนำพวงมาลัยเพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาล กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเหลือจนสามารถกลับไทยได้ จากนั้นลูกเรือทั้งหมดได้เข้าสอบข้อเท็จจริงจากแรงงานไทยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของแรงงานลูกเรือประมงไทยที่ถูกลอยแพที่ประเทศโซมาเลีย โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแล ซึ่งในวันนี้ เป็นการเดินทางกลับของลูกเรือประมง จำนวน 18 คน ที่เดินทางกลับมาเมื่อ 06.30 น. ที่ผ่านมา ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ประสบปัญหาถูกนายจ้างลอยแพบนเรือประมง กลางทะเลชายฝั่งโบซาโซ่ ประเทศโซมาเลีย ไม่ได้รับค่าจ้าง และขาดอาหาร จนต้องติดต่อขอความช่วยเหลือด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบปรากฎว่า มีจำนวน 42 คน ไปทำงานกับนายจ้างประเทศอิหร่าน เป็นเรือ 2 ลำ ชื่อ “วาดานิ 1 “ มีแรงงานไทยจำนวน 22 คน และ “เรือวาดานี 2 “ มีแรงงานไทยจำนวน 20 คน โดยเรือวาดานิ 1 เดินทางกลับมาก่อน 4 คน เดินทางไปโดยไม่ได้แจ้งกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และพบว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศของกรมการจัดหางาน จำนวน 13 คน โดยแรงงานที่กลับในวันนี้ 18 คน ป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 5 คน โดยแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนเพื่อช่วยหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เป็นค่าพาหนะ (ในต่างประเทศ) ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมการจัดหางานร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) ยังได้อำนวยความสะดวกโดยจัดรถรับ-ส่ง พร้อมจัดหาที่พักให้แก่แรงงานก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ 6 คน บุรีรัมย์ 8 คน เพชรบูรณ์ 2 คน สมุทรสาคร 1 คน และชัยภูมิ 1 คน และจากนี้จะได้สอบข้อเท็จจริงจากแรงงานไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป ทั้งนี้ ฝากถึงผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางาน พร้อมสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยมีอัตราค่าสมัครสมาชิก 300-500 บาท แตกต่างกันตามประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ดังเช่น กรณีของลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุน ก็จะได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ ส่วนแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงาน นอกจากจะต้องอยู่อย่างลำบากและต้องหลบซ่อนแล้วยังถูกเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกซ้ำอีกในอนาคต พร้อมขอให้ลูกเรือเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

——