‘จุรินทร์’ สั่งเร่งเจรจาเอฟอีเอตกค้าง 7 ฉบับ จี้กรมเจรจาฯหาข้อสรุป CPTPP

ทะลวงตลาดการค้า 5 แสนล้านเหรียญ “จุรินทร์” แก้เกมสงครามการค้า สั่งลุย 7 ฉบับค้างท่อ ดัน RCEP คลอดกลางปี”63 ไล่บี้กรมเจรจาฯหาข้อสรุป CPTPP ไตรมาส 4 ตัดสินใจ ส่วนเอฟทีเออีก 5 ฉบับรอปีหน้า

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่าxi นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งรัดการเจรจาความตกลงเปิดการค้าเสรีที่ยังค้างท่อประมาณ 7 ฉบับ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย โดยฉบับที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 16 ประเทศ ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ตามด้วยการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) อีก 5 ฉบับ คือ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา ไทย-ปากีสถาน และไทย-อังกฤษ รวมถึงเร่งหาข้อสรุปการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ให้สำเร็จโดยเร็วด้วย ทั้งนี้ หากรวมมูลค่าการค้าของไทยกับคู่ค้าเอฟทีเอทั้ง 7 ฉบับนี้ คิดเป็นมูลค่า 506,002.25 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 (ตาราง)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน สร้างแรงกระเพื่อมให้หลายประเทศหันมาเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกันให้เร็วขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการขยายการลงทุนระหว่างคู่ค้า ชดเชยผลกระทบจากการส่งออกทั้ง 2 ตลาดดังกล่าว

ในส่วนของไทยมีแนวทางการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเร่งรัดการเจรจา RCEP ให้ได้ข้อสรุปและประกาศความสำเร็จ RCEP ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้

จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบคาดว่าจะลงนามในกลางปี 2563 ก่อนที่เสนอรัฐสภาพิจารณาเพื่อให้สัตยาบัน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดภายในกลางปี 2563

“ในประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นำคณะร่วมเจรจาเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2562 ที่จีน ได้รับคำยืนยันจากสมาชิกทุกประเทศว่าต้องการเร่งให้จบสิ้นปีนี้ พื่อเปิดตลาดสินค้า บริการ ลงทุน และได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้”

ทั้งนี้ จะมีประชุมสุดยอดผู้นำระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอีก 1 ครั้งในเดือนตุลาคมนี้ที่เวียดนาม และประชุมระดับรัฐมนตรีอีก 2 ครั้งในเดือนกันยายนและตุลาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสมาชิกจะใช้ความพยายามหาทางออกร่วมกัน ยืดหยุ่นเพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ตามเป้าหมาย

ส่วนการพิจารณาเข้าร่วมเจรจาในความตกลง CPTPP นั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/2562 เพราะจะต้องรอผลการศึกษาโอกาสในการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP โดยบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการศึกษาขยายผลจากผลสรุปความตกลงฉบับเต็มของ CPTPP คาดว่าจะเสร็จเดือนตุลาคมนี้

หลังจากนั้นกรมจะสรุปรายงานผลศึกษาและผลการลงพื้นที่โดยเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน 4 ครั้งไม่นับรวมที่ทางคณะผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่ไปก่อน เพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทราบผลดี ความท้าทายและข้อกังวลประเด็นต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืช การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ตลอดจนแนวทางการเยียวยาผลกระทบ เช่น กองทุนเอฟทีเอ และมาตรการอื่น ๆ จากผลการศึกษา เพื่อเสนอครม.พิจารณาตัดสินใจต่อไป

ส่วนการฟื้นการเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียูที่ชะงักไปนั้น ทางกรมเตรียมจัดประชุมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน เพื่อรับฟังความเห็นต่อการฟื้นการเจรจาทั้งหมด 4 ครั้งช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562 โดยกำหนดครั้งแรกในวันที่ 14 ส.ค. 2562 นอกจากนี้ กรมมอบหมายให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ตลอดจนสำรวจความเห็นจากทั่วประเทศ และผลการศึกษานำเสนอประกอบการตัดสินใจรัฐบาลว่าจะฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และกำหนดท่าทีการเจรจาอย่างรอบคอบ ส่วนทางอียูเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง คาดว่าจะจัดตั้งคณะเจรจาเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนนี้

ส่วนการเจรจา FTA ในอีก 4 กรอบ คือ ไทย-อังกฤษ ซึ่งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าอยากให้มีการเจรจา “แต่เงื่อนไขของอังกฤษคือจะเจรจากับประเทศที่มี FTA กับอียูแล้วเท่านั้น เพื่อจะยึดแนวทางการเจรจากับอียูมาปรับใช้ ดังนั้น จะต้องรอในลำดับต่อไป”

โดยในระหว่างนี้ไทย-อังกฤษร่วมกันศึกษาจัดทำ trade policy review ร่วมกันก่อน ในส่วนของไทยต้องรองบประมาณประจำปี 2563 เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการเจรจา ขณะที่ฝ่ายอังกฤษเพิ่งจะได้รัฐบาลใหม่ และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอแยกออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งต้องรอความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ปีหน้าเป็นที่แน่นอนว่า FTA อีก 2 ใน 3 ฉบับที่อยู่ระหว่างเจรจา คือ ตุรกี และปากีสถานคาดว่าจะสำเร็จได้ตามแผนปีหน้า ส่วนเอฟทีเอศรีลังกายังต้องรอความพร้อมภายในของศรีลังกาก่อน