“อนาคตใหม่” ร่วมงาน “หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” ชู 4 แนวหยุดมรดก คสช.

เมื่อวานนี้ (10 สิงหาคม 2562) ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกิจกรรม “Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” โดยนายปิยบุตรกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่คสช. ครองอำนาจ ได้สร้างอะไรหลายอย่างที่เป็นที่สุด ในแง่ของจำนวนการออกประกาศคำสั่งมากที่สุดเป็นลำดับที่สอง รองจากสมัยจอมพลถนอมที่ออกประกาศ/คำสั่ง 966 ฉบับ ในสมัย คสช. ออกทั้งหมด 559 ฉบับ มากกว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์เสียอีก สถิติอีกเรื่องหนึ่งคือมีการคุ้มกันการใช้อำนาจไว้อย่างรัดกุมแน่นหนา ทุกวันนี้ที่เห็นได้ชัดคืออยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 279 ที่รับรองประกาศ/คำสั่งทั้งหลายของคสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด นั่นหมายความว่าผลิตผลการใช้อำนาจทั้งหมดตลอด 5 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญเลย และยังรับรองล่วงหน้าไปถึงอนาคตไปอีก

อีกด้านหนึ่งคือประกาศ/คำสั่งของ คสช. ถูกใช้ครอบคลุมทุกวงการ หลายประเด็น ทั้งการโยกย้ายข้าราชการ เรียกนักการเมืองมารายงานตัว ละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผังเมือง เอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เรื่องประมง เรื่องท้องถิ่น แม้แต่เรื่องปราบเด็กแว้น ทำให้ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ได้รับผลกระทบ แต่คนไทยทุกหย่อมหญ้าจากประกาศ/คำสั่ง คสช. ทั้งระยะเวลาของการใช้อำนาจแบบพิเศษนี้ยังยาวนานมาก ถึง 5 ปี 1 เดือน และยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเกิดขึ้นแล้ว คสช. ยังมีอำนาจพิเศษอย่างต่อเนื่อง

นายปิยบุตรกล่าวเพิ่มเติมว่าการดำเนินคดีประชาชนของ คสช. ว่าเป็นเทคนิคในการใช้อำนาจแบบใหม่ๆ ของเผด็จการทหาร ซึ่งทราบดีว่าไม่สามารถใช้อำนาจดิบเถื่อน อุ้มคน หรือตั้งศาลเตี้ย หรือวิสามัญฆาตกรรมไปเลยได้ จึงมีการทำให้การใช้อำนาจดูมีเหตุมีผลมากขึ้น คือการแปลงอำนาจดิบเถื่อนนั้นให้เป็นกฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออยู่ตลอดเวลา ทั้งการออกประกาศ/คำสั่ง หรือการเอาไปให้ สนช. ซึ่ง คสช. ตั้งมาเอง ออกเป็นพระราชบัญญัติ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมาบังคับใช้ตามนั้น เวลามีใครบอกว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คสช. ก็จะบอกว่านี่เป็นการทำตามกฎหมาย นานาชาติอยากจะเข้ามาสังเกตการณ์หรือตรวจสอบ ก็จะทำให้ยากขึ้น

ทั้งนี้นายปิยบุตรยังเห็นว่า เวลาเราจะดูการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนของเผด็จการ อย่าดูเพียงจำนวนคนที่บาดเจ็บล้มตายเท่านั้น แต่การที่มีคนถูกดำเนินคดีมากขึ้นๆ แสดงว่าเผด็จการแนบเนียนมากขึ้นกว่าเดิม คือไม่ต้องใช้ปืน แต่ใช้ “กฎหมาย” ทั้งที่คนที่บอกให้ทุกคนเคารพกฎหมายนั้น เป็นคนละเมิดกฎหมายคนแรก คือการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ วิธีการเหล่านี้ เรียกว่า “เอากฎหมายมาห่อหุ้มปืน” หรือบางทีก็ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หลายเรื่องไม่น่าจะเป็นข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ แต่ก็ดำเนินคดีไว้ก่อน เพื่อให้มีคดีเป็นชนักติดหลัง ให้ก้าวเดินยากขึ้น ทำให้ต้องประเมินว่าจะไปชุมนุมอีกไหม มีคนเห็นผู้คนถูกดำเนินคดี ก็ไม่อยากออกไปอีก ทำให้คนเลือกจะจำกัดเสรีภาพตนเอง ที่สำคัญที่สุด ก็คือเผด็จการทหารของไทยนั้นอยู่ตามลำพังโดดๆ ไม่ได้ หากไม่ได้นักกฎหมายเข้าไปช่วย คู่หูนี้กลายเป็นผีเน่ากับโลงผุมาหลายยุคสมัย

ทั้งนี้นายปิยบุตรกล่าวถึงการหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่เหล่านี้ โดยเสนอว่าต้องมีการ “จัดการ แก้ไข ลบล้าง และป้องกัน”

1. จัดการ คือแม้จะมีการยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ไปบางส่วน แต่ยังมีประกาศ/คำสั่งอีกหลายฉบับที่ยังอยู่ จึงจำเป็นต้องเอามาสังคายนาทบทวนกันใหม่ ฉบับไหนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื้อหาขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ต้องยกเลิกให้หมด และต้องเยียวยาผู้เสียหายจากการใช้อำนาจด้วย

ส่วนกลุ่มที่เป็นประกาศ/คำสั่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันปกติ อยากจะให้มันใช้ต่อ ต้องแปลงมันให้เป็นกฎหมายปกติ คือออกเป็นพ.ร.บ. หรือกฎหมายระดับรอง และที่สำคัญคือการต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่สร้างเกราะคุ้มกันการใช้อำนาจของ คสช. เอาไว้

2. แก้ไข คือกฎหมายเดิมหรือกฎหมายสมัย คสช. ที่ออกมาและมีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องมีการแก้ไข เช่น เรื่องศาลทหาร ซึ่งกฎหมายศาลทหารไทยไม่ได้มาตรฐานกับหลักสากล ก็ต้องแก้ไข หรือเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2457 สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ต้องแก้ไข อย่างน้อยก็ต้องไม่อนุญาตให้ทหารประกาศกฎอัยการศึกกันเอง แต่ต้องประกาศโดยคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสร้างระบบความรับผิดชอบ

นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงกฎหมายอีกหลายฉบับที่จำเป็นต้องแก้ไข ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล อย่างเช่นให้ศาลตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, กฎหมายพ.ร.บ.คอมฯซึ่งถูกใช้อย่างผิดเจตนารมณ์ตลอดมา คือมาห้ามการแสดงความคิดเห็นผ่านทางคอมพิวเตอร์ ทั้งที่เจตนารมณ์เป็นเรื่องการป้องกันแฮกเกอร์, กฎหมายหมิ่นประมาท ที่ถูกใช้เป็นความผิดอาญา และถูกใช้มากลั่นแกล้งไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น เป็นไปได้ไหมจะให้เป็นความผิดทางแพ่งอย่างเดียว ไม่เป็นความผิดอาญา, กฎหมายความมั่นคงภายในราชอาณาจักรก็ต้องยกเลิก เพราะทำให้กอ.รมน. เข้าไปแทรกแซงทุกหย่อมหญ้า, กฎหมายการบริหารราชการในกระทรวงกลาโหม ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมหรือนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ตั้งโดยสภากลาโหม ที่ประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารด้วยกันเอง
รวมถึงยังเสนอเรื่องการตั้งผู้ตรวจการกองทัพ (ombudsman) ไปตรวจการใช้อำนาจของกองทัพ ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกัน

3. ลบล้าง หากดูประสบการณ์ต่างประเทศ ที่เคยมีรัฐประหาร แล้วทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้เยอะคือการเอาคนทำรัฐประหารไปดำเนินคดี ถ้าทำได้ คนชุดต่อๆ ไปก็จะไม่กล้าทำ ทุกวันนี้นายทหารกล้าทำทุกครั้ง เพราะรู้ว่ายึดอำนาจสำเร็จ ก็จะนิรโทษกรรมตัวเอง แล้วก็ตั้งตัวเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ตัวอย่างมีทั้งที่กรีซ ตุรกี ฝรั่งเศส ที่นำคนทำรัฐประหารไปติดคุกได้ คนต่อๆ มาก็จะไม่กล้าทำ เราอาจจะต้องไปทำให้การนิรโทษกรรมตนเองเป็นโมฆะ เพื่อทำให้สามารถดำเนินคดีได้

4. ป้องกัน การป้องกันรัฐประหารยังใช้เทคนิคทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังต้องปฏิรูปกองทัพ หรือนักการเมืองต้องมีคุณภาพมากขึ้น ในทางกฎหมาย เสนอว่าความผิดฐานกบฏ มาตรา 113 อาจต้องมีการเขียนเปิดช่องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเป็นผู้เสียหาย ศาลจะบอกไม่ได้ว่านาย ก. ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้เสียหาย และศาลต้องพิจารณาใน 24 ชั่วโมง เพราะมีการยึดอำนาจแล้ว ต้องรีบหยุดเอาไว้

อีกอันหนึ่ง คือศาลมักจะบอกว่าคนที่ยึดอำนาจสำเร็จ เป็นรัฐฏาธิปัตย์ ปิยบุตรเห็นว่าควรเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ ว่าศาลห้ามพิพากษาว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฐฏาธิปัตย์ เรื่องนี้ถือว่าเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป แม้จะฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่หลักนี้ก็ยังอยู่ นอกจากนั้นจากกรณีของประเทศกรีซ เมื่อมีการยึดอำนาจเกิดขึ้น และวันหนึ่ง อำนาจกลับมาสู่ประชาชนตามปกติ ให้ดำเนินคดีต่อคนยึดอำนาจทันที โดยไม่มีอายุความ

นายปิยบุตรสรุปว่ากฎหมายก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกัน แต่สุดท้ายเป็นเรื่องความคิดของคนในสังคมร่วมกัน ที่เห็นร่วมกันว่าเราไม่ยอมให้มีการรัฐประหารหรือเปล่า โดยในตลอด 5 ปี แม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่รัฐบาลที่ได้ยังเป็นการสืบทอดอำนาจ และประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง รัฐไทยตอนนี้อาจจะมีลักษณะเป็นกึ่งรัฐทหาร (para-military state) เป็นรัฐแบบเผด็จการครึ่งใบ และยังเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ รัฐทุนผูกขาด ถ้าไม่มีการแก้ไขปรับปรุง รัฐไทยก็จะเดินต่อไปแบบนี้อีก