ม็อบมะพร้าวจ่อเคลื่อนทัพพบ 2 รมต.ปชป.หลังราคาร่วง ยื่นผ่านส.ส.ดอง 30 วันไร้คำตอบ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ แกนนำผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากเครือข่ายยื่นหนังสือประกอบด้วยข้อเสนอ 10 ประเด็นเพื่อแก้ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวและเร่งแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ผ่านนายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะ สส.ในจังหวัดเมืองหลวงมะพร้าวของประเทศ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ 2 รัฐมนตรีในโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุดยังไม่มีคำตอบตามข้อเสนอที่เครือข่ายขอให้ชี้แจงภายใน 30 วัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องนำมวลชนดินทางไปทวงถาม 2 รัฐมนตรีที่กรุงเทพต่อไป

“ หากรัฐมนตรีเกษตรฯ ซึ่งเป็นอดีต สส.เขต 2 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทราบว่าเร็วๆนี้ จะเดินทางลงพื้นที่ อ.บางสะพานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หากทีมงานไม่มีคำตอบจาก 10 ข้อเสนอให้ชัดเจน ก็จะไม่มีการเจรจาใดๆ และขอทำความเข้าใจว่าเครือข่ายฯไม่ได้รังเกียจการนำเข้ามะพร้าวนอก ไม่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยาเหมือนพืชอื่น ไม่ได้กีดกันการค้าของโรงงานผลิตกะทิส่งออก แต่ขอให้หน่วยงานรัฐพิจารณาตามความเหมาะสมตามข้อมูลที่เป็นจริง เห็นใจเกษตรกรไทยในฐานะคนชาติเดียวกัน มากกว่าการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าทำงานในฐานะเป็นข้าราชการไทยแต่จิตวิญญาณเป็นอินโดนีเซีย ” นายพงศักดิ์ กล่าว

นายกิตติวงศ์ แสงสุวรรณ คณะอนุกรรมาธิการ( กมธ.) แก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง พบปัญหาการนำเข้ามะพร้าวนอกตั้งแต่ปี 2560 ตามกรอบการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า( AFTA) และองค์การการค้าโลกหรือ WTOทั้งในและนอกโควต้า ทำให้ราคาผลผลิตในประเทศตกต่ำอย่างหนักนานกว่า 2 ปี มาจากหน่วยงานภาครัฐบางแห่งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีเจตนาทำข้อมูลให้ผิดพลาด จากการนั่งเทียนสำรวจผลผลิต ตัวเลขความต้องการ เอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก ทำให้ปี 2560 มีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะของการทุ่มตลาด ส่งผลกระทบรุนแรงกับเกษตรกรในประเทศ แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ

“ จากการตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้ากะทิแช่แข็ง โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดใดๆ ทั้งที่คุณภาพของสินค้านำเข้าต่ำกว่าผลผลิตในประเทศ นอกจากนั้นยังมีมะพร้าวเถื่อนลักลอบนำเข้า ซึ่งเกิดกลไกการทำงานที่ล้มเหลวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีหน่วยงานใดยอมรับว่ามีการลักลอบเข้ามาโดยผ่านช่องทางใดหรือมีการตรวจสอบอย่างไร ขณะที่ตัวเลขส่งออกชี้ชัดว่ามีส่วนเกินจากการใช้วัตถุดิบ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถแยกแยะมะพร้าวไทยหรือมะพร้าวนอกได้ จากการพิสูจน์ตามหลักวิชาการ ทำให้มีเสนอเพื่อใช้งบประมาณตรวจดีเอ็นเอ มะพร้าว แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า “นายกิตติวงศ์ กล่าวและว่า สำหรับราคามะพร้าวขณะนี้ปรับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการปล่อยโควต้าเปิดให้พ่อค้าคนกลางมีการแย่งชิง เพราะผลผลิตโดยภาพรวมเริ่มลดลง ไม่ได้เกิดจากการยุติการนำเข้าในกรอบแอฟต้า หรือดับเบิลยูทีโอ แต่อย่างใด