มวลชนฮ่องกงจัดเลเซอร์โชว์ประท้วงตำรวจ หลังจับตัวผู้ชุมนุมมีเครื่องชี้เลเซอร์เป็นอาวุธร้ายแรง

วันที่ 8 สิงหาคม 2562 เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษรายงานสถานการณ์การชุมนุมประท้วงคัดค้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กลายเป็นการประท้วงขับไล่คณะฝ่ายบริหารในฮ่องกงที่ยืดเยื้อนาน 2 เดือนว่า ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์ต่างๆมาใช้ในการชุมนุม โดยเฉพาะฟากผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลได้ใช้อุปกรณ์เลเซอร์ที่ใช้ในการพรีเซนต์งานเป็นเครื่องมือส่องรบกวนตัวเซ็นเซอร์ในระบบจดจำใบหน้าที่ตำรวจฮ่องกงนำใช้เพื่อระบุเป้าหมายบุคคลที่ร่วมชุมนุมไม่ให้ใช้การได้ จนมีข่าวการจับกุมแกนนำสหภาพนักเรียนที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่าพกพาอาวุธร้ายแรงคืออุปกรณ์เลเซอร์โดยตำรวจแสดงหนึ่งในอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถจี้หนังสือพิมพ์เกิดรอยไหม้ได้

ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมหลายร้อยที่ต่างมีเครื่องชี้เลเซอร์ได้รวมตัวกันที่ภายนอกพิพิธภัณฑ์ท้องฟ้าจำลองและจัดแสดงเลเซอร์โชว์ขึ้นเพื่อประท้วงการจับกุมแกนนำนักศึกษาที่พกพาอาวุธร้ายแรงอย่างเครื่องชี้เลเซอร์

โดยผู้ชุมนุมจำนวนมากต่างตะโกนว่า “ยิง ยิง แต่ไม่เกิดไฟไหม้” พร้อมกับปล่อยแสงเลเซอร์จากอุปกรณ์ชี้เลเซอร์ใส่กำแพงอาคารโดมของท้องฟ้าจำลองจนเป็นลวดลายหลากสีสัน

ก่อนหน้านี้ ตำรวจฮ่องกงอ้างว่า เลเซอร์ที่ผู้ชุมนุมใช้นั้นส่องโดยเข้าไปยังดวงตาของเจ้าหน้าที่และเซ็นเซอร์กล้องที่ใช้ตรวจจับใบหน้า นับเป็นอาวุธโจมตีที่อันตรายมาก

ขณะที่ นายไรอัน โฮ คิลแพทริค นักเขียนซึ่งพำนักอยู่ในฮ่องกงและได้ร่วมชมการแสดงเลเซอร์โชว์ครั้งนี้ ได้ทวิตข้อความว่า “คืนนี้ เกิดบางสิ่งที่เราทุกคนต้องการ นั้นคือ ไม่มีน้ำตา ไม่มีเลือด มีแต่เสียงหัวเราะ เพลงและเต้นรำ ผมจะกลับมาดูอีกครั้งตอนกลับบ้านพร้อมกับกลิ่นแก๊สน้ำตาที่ยังคงติดตามตัวและเสียงร้องที่ก้องในหู นี่คือเมืองที่เรารัก นี่ทำให้ตอบว่าทำไมเราถึงทำมัน”

ทั้งนี้ ฮ่องกงเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี 1997(2540)  และการประท้วงขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับคำเตือนถึงการเดินทางมาฮ่องกงจากหลายประเทศอาทิ อังกฤษ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและล่าสุดคือสหรัฐ ส่วนอธิบดีกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของรัฐบาลจีนก็ออกมาเตือนถึงการส่งทหารจีนเข้าปราบปรามหากฝ่ายบริหารฮ่องกงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ถูกถล่มด้วยคำขู่จากรัฐบาลและสื่อของทางการจีน ผู้ประท้วงยังคงท้าทายไม่ใช่แค่การประท้วง แต่ด้วยการสร้างอารมรณ์ขันแบบฮ่องกงและการใช้สื่อโซเชียลรณรงค์ในฐานะเครื่องมือในการเคลื่อนไหวต่อต้าน