‘ทวี สอดส่อง’ ชี้ รัฐธรรมนูญปี60 มรดกระบบอุปถัมภ์ เลือกตั้งกี่ครั้ง ‘บิ๊กตู่’ ก็เป็นนายก

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธาน คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวในเวทีเสวนา “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกระบวนการมีส่วนร่วมนอกสภา” ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จึงจำเป็นต้องกระจาย​อำนาจและและประโยชน์ให้มากที่สุด

“ในการปกครอง สิ่งสำคัญที่สุด คือ อำนาจและตำแหน่ง อำนาจไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนายกฯก็ไม่มีอำนาจ หรือ ปปช.ถ้าไม่มีตำแหน่งก็ไม่มีอำนาจ กกต.ก็เช่นกัน จะไม่มีอำนาจทำให้ 3 หมื่น ชนะ 7 หมื่น ดังนั้นการที่จะให้ประชาชนมีความผาสุกในประเทศได้ จำเป็นต้องมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะจะทำใ้ห้สังคมมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าสังคมเผด็จการ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สังคมไทยมีรากเหง้าจากระบบอุปถัมภ์ คือ บุญคุณต้องทดแทน ประโยชน์ส่วนรวมน้อยกว่าส่วนตนของผู้มีอำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นมรดกของระบบอุปถัมภ์ เพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ตาม

“การที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสุข 1.ต้องมุ่งไปที่ประชาชนก่อน ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข อยู่ดีกินดี 2.เสาหลัก คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ปกครองประเทศต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีใน 5 ประการ คือ 2.1 คำนึงถึงสิทธิ ประชาชนต้องมีสิทธิในปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิต ต้องผลักดันรัฐสวัสดิการ 2.2 รัฐธรรมนูญต้องให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนที่จะมีความคิด ต้องทำให้คนมีความเสมอภาค 1 สิทธิ 1 เสียง มีค่าเท่ากัน 2.3 จะต้องมีความเสมอภาคเรื่องงบประมาณ ปัจจุบันการพัฒนาเหลือน้อยเพราะเอาไปเป็นเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งยังไม่รวมการรักษาพยาบาลที่เจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนมีสิทธิที่ต่างกัน จึงต้องผลักดันให้มีความเท่าเทียม
2.4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ และศักดิ์ศรีของความแตกต่างในเรื่องความยุติธรรมที่มีหลายระดับ ใหญ่ที่สุดคือการร่างกฎหมายที่เป็นของคนกลุ่มหนึ่ง โดยประชาชนไม่มีโครงสร้างอำนาจในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของเขา เหมือนขอทานที่แล้วแต่รัฐจะหยิบยื่นให้ 2.5 เรื่องอาชญากร หรือผู้กระทำความผิด หมายถึงผู้บงการ ผู้ร่างกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด คือส่วนหนึ่งของอาชญากรรูปแบบหนึ่ง

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อาจจะมีอาชญากรมาร่างกฎหมาย ว่าทำอย่างไรให้คนชนบทไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาสู่โครงสร้างอำนาจ ดังนั้น ต้องปรับความคิด มองว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรี รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของสภาหรือพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่องการจัดระเบียบในสังคม” พ.ต.อ.ทวีกล่าว