‘สุริยะ’ทบทวนนโยบายอีวีหวังกระตุ้นลงทุน-ราคารถไม่แพง

‘สุริยะ’ทบทวนนโยบายอีวีหวังกระตุ้นลงทุน-ราคารถไม่แพง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ว่า ได้มาตรวจเยี่ยมสศอ.เป็นหน่วยงานแรก เนื่องจากเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยให้ไปทบทวนมาตรการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ภายในประเทศ เนื่องจากออกมาตรการส่งเสริมมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคารถยนต์ยังสูงอยู่ และระบบสนับสนุนต่างๆ อาทิ ปั๊มชาร์จ ยังมีจำนวนไม่มาก

นายสุริยะกล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาให้นโยบายที่กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 14 สิงหาคม กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอตั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ณ ประเทศจีน เพิ่มเติม เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่ มีศักยภาพ มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก จากปัจจุบันกระทรวงฯมีสำนักงานที่ออสเตรีย และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่เหมาะสมระหว่างกรุงปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ โดยสำนักงานนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพราะจะเน้นประสานงานด้านภาคอุตสาหกรรมไทยและในเดือนกันยายนจะเชิญนักลงทุนจีนกว่า 300 ราย มารับทราบนโยบายของรัฐบาลใหม่ รวมถึงพาเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อให้เห็นสถานที่จริง เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาหลัก 3 ประการ คือ 1.รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาสูงเกินไป ดังนั้นจะต้องออกมาตรการเข้ามาเสริมเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 8 แสนบาทต่อคัน จากราคาเฉลี่ยปัจจุบัน 1.2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งในมาตรการใหม่นี้ จะเพิ่มการส่งเสริมเพื่อให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมไปถึงรถสามล้อไฟฟ้า และรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า เพื่อให้มีราคาต่ำลงจนคนทั่วไปเข้าถึงได้

2.มาตรการเดิมไม่สามารถดึงดูดเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าหลักเข้ามาลงทุนในไทยได้ โดยมาตรการใหม่จะปรับกฎเกณฑ์ เพื่อดึงดูดการลงทุนในชิ้นส่วนหลักๆ อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และระบบควบคุมการขับรถ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นเพียงการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า 3. ส่งเสริมให้เกิดการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะส่งเสริมให้เน้นการผลิตรถยนต์ที่มีระบบชาร์จไฟฟ้า เช่น รถยนต์ปลักอินไฮบริด ที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้า และใช้น้ำมันเชื่อเพลิงได้ และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

“ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่จะมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฮบริดเป็นหลักทำให้มีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่มีปลั๊กเสียบชาร์จไฟฟ้าอยู่น้อย ดังนั้นจึงต้องปรับมาตรการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่มีปลั๊กชาร์จไฟฟ้าให้มาก จึงจะเกิดการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าตามมา รวมทั้งจะต้องหารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ให้อาคารจอดรถในคอนโดมิเนียม สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ ซึ่งหากมีสถานีชาร์จไฟฟ้ามากก็จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น”นายณัฐพลกล่าว