ภาคเอกชนเข้าพบ “วิรไท” วันนี้ หารือผ่อนปรนเกณฑ์หนี้ โอดกฎปล่อยกู้ใหม่ทำเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง

ภาคเอกชนตบเท้าพบผู้ว่าการแบงก์ชาติ ส.อ.ท.ยกทีมหารือ 8 ส.ค.นี้ ขอผ่อนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ โอดกฎใหม่ทำแบงก์เข้มปล่อยกู้ ธุรกิจเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องหนัก ฟากคลังเร่งแก้ปมสั่งแบงก์รัฐให้กู้เงินทุนหมุนเวียน เพิ่มเครดิตเทอม-อัพวงเงิน-ดึง บสย.ค้ำ ด้านสภาหอฯจ่อถกแก้ค่าบาทแข็ง ปลดล็อกส่งออกสกุลเงินท้องถิ่น ชง “จุรินทร์” ดัน FTA ไทย-อียู

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า วันที่ 8 ส.ค.นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือ2-3 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินที่ ธปท.ประกาศบังคับใช้เมื่อปลายปี 2561 ทำให้แบงก์ต้องจัดชั้นหนี้เข้มขึ้นกระทบภาคธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในปี 2562 ที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ธุรกิจเอสเอ็มอีติดกับดัก

“โดยเฉพาะเกณฑ์ ธปท.ที่กำหนดว่าหากในสัญญาเงินกู้กำหนดให้ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ถ้าลูกหนี้มีปัญหาสภาพคล่องชำระได้แต่ดอกเบี้ย เดิมยังไม่ต้องเป็นหนี้จัดชั้น แต่เกณฑ์ใหม่ที่ออกมาเข้มขึ้น ถ้าลูกหนี้จ่ายแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวจะต้องถูกจัดชั้น ทำให้แบงก์ต้องกันสำรองเพิ่ม ถ้าแบงก์ไม่อยากตั้งสำรองก็จะให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่พอปรับโครงสร้างหนี้ แบงก์ก็จะไม่ปล่อยกู้เพิ่ม เพราะต้องรอติดตามการชำระหนี้อย่างน้อย 12 เดือนก่อน”

ผลคือผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เมื่อต้องปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แบงก์จะไม่ให้ working capital หรือเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ทำธุรกิจ ทำให้ขาดสภาพคล่อง แทนที่บางคนจะมีปัญหาชั่วคราวก็กลายเป็นปัญหาถาวร ซึ่งคนที่ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ แต่เกณฑ์ที่ออกมาเข้มกลับเป็นการไปลงโทษ เพราะไม่ได้ woking capital ยิ่งแย่ลงไปอีก

โอดใช้เกณฑ์ ธ.พาณิชย์ชี้วัด

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้จะหารือถึงความเข้มข้นของเกณฑ์ที่ ธปท.ใช้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐด้วย ขณะที่แบงก์รัฐต้องทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่าง การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ เช่น พ่อค้าแม่ค้าไม่มีสลิปเงินเดือน และยิ่งเข้มงวดก็ยิ่งซ้ำเติมเอสเอ็มอี

“ธนาคารของรัฐจะทำหน้าที่เข้าไปแก้ไขระบบที่กลไกตลาดไม่ทำงาน เช่น พ่อค้าแม่ค้าไม่มีสลิปเงินเดือน แบงก์ไม่ปล่อยกู้ แต่เกณฑ์ที่ ธปท.เอามากำกับแบงก์รัฐ เป็นเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ แบบนี้แบงก์รัฐก็เหนื่อย แม้จะขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่อนปรนให้ดำเนินการได้ แต่เอาเข้าจริงภาคการเมืองก็ไม่อยากรับผิดชอบหนี้ แบบนี้แบงก์รัฐก็ตาย เพราะทำหน้าที่แบบกึ่งการกุศล แต่ถูกวัดแบบทำกำไร”

เจอพายุ 3 ลูกถล่ม

อีกเรื่องที่ ส.อ.ท.จะพูดคุยกับ ธปท. คือ การดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาค แม้ช่วงหลังมานี้อาจมีการแทรกแซงโดย ธปท. ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเร็วจนเกินไป แต่ยังต้องหารือให้ดูแลเรื่องนี้ในระยะข้างหน้า

“ตอนนี้เหมือนมีพายุ 3 ลูกกระหน่ำมาพร้อมกัน คือ 1.เศรษฐกิจชะลอตัว 2.กฎเกณฑ์ที่เข้ม และ 3.การกำกับแบงก์รัฐในบทบาทที่ผิดจากสาระสำคัญ แต่สิ่งเร่งด่วนคือ ธปท.ต้องเข้ามาดูว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ปรับโครงสร้างหนี้โดยสมัครใจ สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างน้อย 1 ปี อันนี้เป็นโจทย์สำคัญ ถ้าทำตรงนี้ได้ก็รอด เพราะทุกวันนี้พวกธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ก็ไม่ได้ เพราะไปปรับโครงสร้างหนี้”

สินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปข้อมูลสินเชื่อ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2562 ว่า สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยหลายประเภทชะลอลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 1.07 หมื่นล้านบาท หรือ 0.09% จากเดือนก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อธนาคารหลายส่วนยังคงถูกฉุดด้วยสินเชื่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี จากผลกระทบของภาคส่งออกและความเสี่ยงต่อเครดิตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สินเชื่อสุทธิในเดือน มิ.ย. 2562 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่งที่ระดับ 3.88% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สั่งแบงก์รัฐอัดฉีดสภาพคล่อง

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารกรุงไทย ออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พิจารณาสนับสนุนสินเชื่อ โดยจะพิจารณาตามความจำเป็นและให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง หากจำเป็นต้องอุดหนุนงบประมาณ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า นายอุตตมได้สั่งการให้แบงก์รัฐไปคิดมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ให้มีระยะเวลาให้สินเชื่อ (credit term)ที่ยาวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการวงเงินสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันให้ด้วย

“ทีเอ็มบี” ชี้สอดคล้อง ธปท.

นายพร้อมพงษ์ พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และ Portfolio ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกปี 2562 ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้แบ่งว่าเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเท่าใด โดยเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.มีผลต่อการตั้งสำรองของธนาคาร แต่ไม่มีผลต่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว

ขอแบงก์ชาติแก้ค่าบาทแข็ง

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอฯจะพบผู้ว่าการ ธปท.เช่นเดียวกัน โดยจะแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเงินบาทแข็งค่า เช่นว่ามีประเทศใดบ้าง แต่ละประเทศแก้ไขสถานการณ์อย่างไร ไทยควรปรับอย่างไรให้เหมาะสม พร้อมทั้งขอให้ส่งเสริมมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการไปก่อนหน้านี้อย่างเรื่องให้ผู้ส่งออกเสนอราคาส่งออก โดยใช้สกุลเงินท้องถิ่น (local currency) ที่ทำแล้ว 2-3 ประเทศ ควรขยายไปยังตลาดรองที่มีศักยภาพสูง และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเสนอราคาส่งออกเป็นเงินบาท

ถก “จุรินทร์” ดัน FTA ไทย-อียู

นอกจากนี้จะเข้าพบ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ เพื่อต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู (FTA)

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จะเข้าพบผู้ว่าการ ธปท.โดยประเด็นที่ห่วงคืออัตราแลกเปลี่ยน และจะผลักดันให้ใช้สกุลเงินในภูมิภาคกำหนดราคาส่งออกช่วงอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ข้อกังวลเกี่ยวกับเครดิตบูโร และสถานการณ์ของเอสเอ็มอี โดยรัฐต้องเร่งพิจารณาตั้งกองทุนนวัตกรรม วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยให้ สอท.บริหารกองทุนหรือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ช่วยให้เอสเอ็มอีนำไปใช้ด้านนวัตกรรมยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒพงค์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ กล่าวกรณีที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าในขณะนี้และทำให้สินค้าของไทยส่งออก ไปขายในจีนราคาสูงขึ้นว่า แต่ต้องยอมรับว่าผู้ส่งออกไทยไม่สามารถปรับลดราคาลงได้เนื่องจากกำไรที่น้อยและ เมื่อแลกเป็นเงินบาทกลับมา ก็ยังไม่ คุ้มดังนั้นการซื้อขาย ในสกุลที่เหมาะสมที่สุดก็คือการซื้อขายในอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นเงินบาทและเหรียญสหรัฐ