‘หมอเลี๊ยบ’ แจงดราม่า ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ค่ารถก็ไม่เอา หลังถูกถามว่าไปช่วย‘อนุทิน’ ทำไม?

สืบเนื่องจากกรณีที่ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เข้าร่วมประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

และ น.พ.สุรวงค์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ร่วมหารือด้วย

โดยก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กซึ่งเป็นภาพ ขณะกำลังพูดคุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ พร้อมเขียนข้อความถึงสาเหตุที่ทั้งคู่ได้มาพบกันในครั้งนั้นว่า ตนนั้นเพียงมาร่วมหารือและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องระบบประกันสุขภาพกับ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่แรก เป้าหมายจากนี้ไปคือการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย ความสะดวกของประชาชนผู้มาขอรับบริการ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบรรดาแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ได้มาตรฐานที่ทุกฝ่ายมีความพึงพอใจ

หลังจากมีภาพและข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีทั้งเสียชื่นชม และการตั้งคำถามต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยล่าสุด น.พ.สุรพงษ์ ได้โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า ทำไมผมจึงไปนำเสนอข้อมูลเรื่อง “30 บาท” ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

หมอเลี๊ยบแจงเหตุผล “ทำไมถึงช่วยงาน”

“4-5 ปีก่อนหน้านี้ เราได้รับฟังแต่ปัญหาของนโยบาย 30 บาท ในเรื่องงบประมาณไม่พอบ้าง ต้องให้มีการร่วมจ่ายเมื่อเจ็บป่วยบ้าง (ซึ่งไม่มีการลงรายละเอียดว่า จะให้ร่วมจ่ายอย่างไร เท่าไร) ผู้ป่วยมารักษาพยาบาลจนแออัดทั้งตึกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบ้าง ความขัดแย้งระหว่างแพทย์ พยาบาลกับผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินบ้าง สารพัดปัญหาเหล่านั้น ทำให้เกิดการโยนหินถามทางว่า ควรยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้อยู่หรือไม่ แต่คนที่โยนหินก็กล้าๆกลัวๆ สองจิตสองใจ ไม่มั่นใจว่าควรทำอย่างไรต่อไป” น.พ.สุรพงษ์ เล่าไว้

หมอเลี๊ยบยังเล่าต่ออีกว่า วันนี้ ตนเป็นประชาชนที่อยู่ในวรรณะ “จัณฑาลทางการเมือง” มีเพียงสิทธิในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต แต่ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ แต่กลับสบายใจที่ไม่ต้องหาเหตุผลมาตอบมิตรสหายที่แวะเวียนมาสม่ำเสมอเพื่อชักชวนเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง

“ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมไปโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ผมสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองกันให้มากๆ ผมไปลงคะแนนในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยการเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ตามแนวทาง “เลือกอย่างมียุทธศาสตร์” และผมไม่เห็นด้วยการสืบทอดอำนาจ แต่ผมก็ไม่ยอมเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพังทลายลงต่อหน้าต่อตา โดยนิ่งดูดาย ไม่ทำอะไร

ดังนั้นเมื่อทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ติดต่อมาว่า รัฐมนตรีอยากแลกเปลี่ยนความคิดเรื่อง 30 บาท ผมจึงตอบรับ (แต่ก็แอบคิดไม่ได้ว่า คงไม่ตั้งใจนัดหมายจริงจังเหมือนรัฐมนตรีท่านก่อนๆนั่นแหละ)” น.พ.สุรพงษ์ เปิดเผยไว้ในตอนหนึ่ง ของโพสต์ดังกล่าว

หมอเลี๊ยบยังเล่าต่อไปอีกว่า “ในวันแรกที่พบกัน ผมเล่าความคิดเห็นของผมอย่างคร่าวๆ คุณอนุทินตั้งใจฟังและจดประเด็นสำคัญๆในสมุดบันทึกไปด้วย ผมเอ่ยปากชัดเจนในวันนั้นว่า ผมพร้อมให้ความเห็นทั้งในที่ประชุมย่อย ที่ประชุมใหญ่ และในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผมพูดกี่ครั้งก็จะพูดเหมือนเดิม เพราะหลักการที่ถูกต้องของระบบ 30 บาท ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

เงื่อนไขสำคัญ ของหมอเลี๊ยบ

“แต่เงื่อนไขสำคัญที่ผมแจ้งคุณอนุทินไปคือ ผมไม่ใช่ทีมงานของท่าน ผมไม่รับตำแหน่งใดๆ ไม่รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานใดๆ ไม่รับเบี้ยประชุม ไม่รับค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”

“ผมมาในฐานะประชาชนชื่อ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่อยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พัฒนาไปอย่างยั่งยืน เป็นกำแพงพิงหลังให้ผู้ทนทุกข์ ไม่มีใครต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย และเป็นแบบอย่างที่งดงามให้กับองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ”

หลังจากนั้น ทีมงานรัฐมนตรีติดต่อประสานงานกับผมอีกหลายครั้ง จนผมรู้สึกได้ว่า “คราวนี้ รัฐมนตรีฯท่าจะเอาจริงแฮะ” และนำไปสู่การนัดหมายครั้งที่ 2 เพื่อให้ผมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ