เปิดเกณฑ์คำขอ..งบปี’63 เตือน‘ครม.-ส.ส.-ส.ว.’ ห้าม‘แปรญัตติ’

หมายเหตุ – สำนักงานงบประมาณจัดทำข้อมูลชี้แจงการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแนวทางการจัดทำคำของบประมาณ

 

‘รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ
-งบประมาณรายจ่าย
งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็น พ.ร.บ. ถ้า พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีออกไม่ทันให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อน
-การเสนองบประมาณ
ต้องแสดงแหล่งที่มา และประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาต่างๆ
-การพิจารณางบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร
พิจารณาภายใน 105 วัน แปรญัตติได้ในทางลดหรือตัดทอนรายจ่าย ยกเว้นต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
-การพิจารณางบประมาณ วุฒิสภา
พิจารณาภายใน 20 วัน เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ
-ป้องกันประโยชน์ทับซ้อน
ในการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ ห้ามเสนอ /แปรญัตติ /การกระทำด้วยประการใด ที่มีผลให้ ส.ส./ส.ว.มีส่วนทางตรง/ทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย
-ความรับผิด
ส.ส. /ส.ว.สิ้นสุดสมาชิกภาพ – เพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้ง ครม.พ้นตำแหน่งทั้งคณะ – เพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้ง ให้ผู้กระทำรับผิดชดใช้เงิน + ดอกเบี้ย / การเรียกเงินคืน ให้กระทำได้ภายใน 20 ปี

‘สาระสำคัญของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มาตรา 29 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับงบประมาณ และให้ยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย ต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย
-การประเมินผล/รายงาน
มาตรา 46 มาตรา 47 มาตรา 48 กำหนดให้ ผอ.สงป.มีหน้าที่จัดวางระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ
ให้หน่วยรับงบประมาณจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลภายในหน่วยงาน
หากการประเมินผลของหน่วยรับงบประมาณไม่เป็นไปตามที่กำหนดและหน่วยรับงบประมาณไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขตามที่ ผอ.สงป.เสนอแนะได้ ให้ ผอ.สงป.รายงาน ครม.เพื่อสั่งการ
-ความรับผิด (ชดใช้เงิน)
มาตรา 52 หลักการเดียวกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ที่กำหนดให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณจะต้องรับผิดชดใช้เงินที่หน่วยรับงบประมาณได้จ่ายไปหรือต้องผูกพันจะต้องจ่ายโดยเพิ่มความคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด หากได้ทักท้วงคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือว่า การที่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบ
-บทบาทฝ่ายบริหาร
มาตรา 8 มาตรา 38 รมต.เจ้าสังกัด/รมต.ที่กำกับดูแล/รมต.ผู้รักษาการตามกฎหมาย มีหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการติดตามตรวจสอบ/ประเมินผล

‘การดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอตั้งงบประมาณรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
-รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หน่วยรับงบประมาณจะต้องเสนอ ครม.ก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี
-รายการที่เสนอ ครม.อนุมัติดังกล่าว กรณีครุภัณฑ์จะต้องมีรายละเอียดคุณลักษณะครุภัณฑ์/ที่มาของราคา สำหรับสิ่งก่อสร้างจะต้องมีรายละเอียดของแบบรูปรายการ และที่มาของราคาให้ถูกต้องครบถ้วน โดยรายการและวงเงินดังกล่าวไม่นับรวมเป็นสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

‘พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่เกี่ยวข้องกับการงบประมาณ
กำหนดให้มีสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามนัยในมาตรา 11 (4) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ดังนี้
(1) สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต้องตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(2) สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระ ต้องตั้งไม่น้อยกว่า ร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(3) สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระ ต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น
(4) สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(5) สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ต้องไม่เกินร้อยละ 8 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

‘หลักเกณฑ์คำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563
1.เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทฯ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล รวมทั้งยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ มีการทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ ผลผลิต โครงการ กิจกรรม ให้สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงาน และมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/กิจกรรม หรือรายการที่ขอรับจัดสรรงบประมาณ
2.ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชน โดยภารกิจที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ให้มีการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม
3.งบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรของรัฐและรายจ่ายประจำให้ขอตั้งงบประมาณเท่าที่จำเป็น และให้พิจารณานำเงินนอกงบประมาณที่มีอยู่มาสมทบตามความเหมาะสม
4.งบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่เสนอตั้งในแผนงานอื่นๆ
5.งบประมาณของ อปท.ต้องเป็นแผนงาน/โครงการ ที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภา อบต.แล้วแต่กรณี และหรือเป็นภารกิจถ่ายโอนจากส่วนกลางไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายและขั้นตอนการกระจายอำนาจ
6.แผนงานบูรณาการควรมีลักษณะเป็นโครงการสำคัญ มีความจำเป็นเร่งด่วน มีเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนงานที่สอดคล้องเชื่อมโยงกัน และตอบสนองต่อเป้าหมายของแผนงาน มีหน่วยรับงบประมาณตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน มีการแสดงให้เห็นขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถนำส่งผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัดของแผนงานบูรณาการ โดยไม่นำค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นงานประจำหรือภารกิจพื้นฐานมากำหนดไว้
7.พิจารณาและตรวจสอบความพร้อมของรายการ ความพร้อมของพื้นที่และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนการยื่นคำขอตั้งงบประมาณ มีการนำผลการใช้จ่ายงบประมาณในปีที่ผ่านมาใช้ประกอบการพิจารณา และสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อนที่จะมีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณ
8.ให้ยื่นคำขอตั้งงบประมาณมายังสำนักงบประมาณ โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่ กำกับดูแล พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลในระบบ e-Budgeting ให้ครบถ้วน ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2562

‘แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563
1) พิจารณาแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน อาทิ เงิน รายได้ เงินสะสม และเงินกู้ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ รวมทั้งจัดทำแผนงาน / โครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทฯ 2) พิจารณาประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ แผน/ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ให้ความสำคัญกับแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน
3) ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกระบวนการทำงานเพื่อประสิทธิภาพการทำงานและลดรายจ่ายประจำ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณตรงกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
4) ผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ โดยขอให้มีลักษณะเป็นรูปธรรมสามารถวัดผลได้จริงอย่างน้อย 1 ผลสัมฤทธิ์

มติชนออนไลน์