กรมเจรจาฯ เตรียมหารือฟื้นเอฟทีเอ “อียู-ไทย” หลังหยุดนิ่งนานถึง 6 ปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาฯ เตรียมจัดประชุมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน เพื่อรับฟังความเห็นต่อการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)

ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งขยายความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยกำหนดจัดทั้งหมด 4 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.2562

“การหารือจะจัดตามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งกลุ่มภาคเอกชน สมาคมธุรกิจและผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาชน และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องต่างๆ เช่น ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจา ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเตรียมความพร้อมรับมือหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น โดยได้กำหนดจัดรับฟังความเห็นครั้งแรกกับกลุ่มภาคเอกชน ในวันที่ 14 ส.ค.2562 ที่กระทรวงพาณิชย์” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการจัดหารือรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียแล้ว กรมฯ ยังได้มอบหมายให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ตลอดจนสำรวจความเห็นจากประชากรกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ

โดยกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนต.ค.2562 จากนั้นกรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษา การจัดรับฟังความเห็น และการตอบแบบสำรวจของประชากรกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ นำเสนอรัฐบาลเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และกำหนดท่าทีการเจรจาอย่างรอบคอบต่อไป

ในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของการค้าไทยกับโลก เพิ่มขึ้น 6.5% โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปอียูมูลค่า 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียูมูลค่า 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% และ 8.1% ตามลำดับ

สำหรับในช่วงครึ่งปีของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่าการค้ารวมไทย-อียู มีมูลค่า 21,908 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกมูลค่า 12,060 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 9,817 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาไทย ซึ่งมีมูลค่า 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้สนใจร่วมการประชุมรับฟังความเห็นต่อการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FTA Call Center 0 2507 7555 โทร 091-871-4671 และเว็บไซต์ www.dtn.go.th