คณะกก.ยุทธศาสตร์เพื่อไทย สัญจร ครั้งที่1 จ.ร้อยเอ็ด จ่อชงรัฐบาล ดัน ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ เป็น ‘เขตพัฒนาพิเศษ’

เมื่วันที่ 5 สิงหาคม ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย (พท.) จ.ร้อยเอ็ด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรค พท. นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ นายชัยเกษม นิติสิริ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา นายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมด้วยแกนนำพรรค พท. อาทิ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษพรรค นายประยุทธ์ ศิริพานิช ประธานภาคอีสานพรรค พท. และ ส.ส.กทม. ของพรรค เดินทางลงพื้นที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรค พท. สัญจร ครั้งที่ 1 โดยได้ร่วมประชุมหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย 6 จังหวัด ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ อาทิ นายศักดา พงษ์เพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด นางบุญรื่น ศรีธเรศ นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และส.ส.ภาคอีกสานอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อหารือกันถึงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรทั้งเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และปัญหาที่เกิดจากภาวะภัยแล้ง โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 100 คน

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พี่น้องมีความทุกข์ที่ไหนพรรคเพื่อไทยจะไปที่นั่น แม้พี่น้องจะเลือกพรรค พท.แต่พรรค พท.ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ความผิดพี่น้อง และไม่อยากให้พี่น้องท้อ เพราะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่เอาเปรียบที่สุด พรรค พท.เราทุกคนก็ไม่ท้อ และจะเดินหน้าเคียงข้างพี่น้องต่อไป เพราะเรารู้ว่าพี่น้องทุกข์ทั้งจากพิษภัยทางเศรษฐกิจและภัยแล้ง เราจะมาช่วยผลักดันสิ่งต่างๆเด็มที่ เราพรรค พท. ทั้งส่วนกลาง และ ส.ส.ในพื้นที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราเอามาคิดและหาทางแก้ปัญหา เราจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องแม้แต่วินาทีเดียว วันนี้เราจะมาทำให้ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้ เราจะเริ่มต้นผลักดันโครงการที่เราคิดมากว่า 20 ปีด้วยความมุ่งมั่น ให้ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกุลามั่งมีให้ได้ นอกจากนี้ เราจะผลักดันทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนอกอีอีซี โดยเรียกว่า เขตพัฒนาพิเศษทุ่งกุลาร้องไห้ “Thungkula Special Area (TSA)” ซึ่งเราจะนำแผนงานนี้ไปนำเสนอต่อทางรัฐบาลด้วย

ด้านนายศักดากล่าวว่า เราต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.เติมน้ำให้เพียงพอต่อการผลิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานของพื้นที่ภาคอีสานจากร้อยละ 12 เป็น ร้อยละ 75 ของพื้นที่การเกษตร 57.75 ล้านไร่ แบ่งเป็นโครงการย่อย คือ โครงการ โขง เลย ชี มูล ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 30 ล้านไร่ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 แหล่งน้ำ โดยจัดงบประมาณผ่านตรงไปยังประชาชนให้จัดทำแหล่งน้ำ ประจำหมู่บ้านของตนเอง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โครงการกักเก็บนำ้ใต้ดิน หรือธนาคารนำ้ใต้ดิน และทำฝ่ายกักเก็บน้ำในลำน้ำชี ลำน้ำมูล ลำน้ำยัง และลำน้ำใหญ่ๆอื่นๆ เป็นช่วงๆ ตลอดลำน้ำ รวมทั้งทำแก้มลิงเพิ่มเติม และเขื่อน​ขนาดเล็ก โดยใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2.การเพิ่มมูลค่าของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา โดยยกระดับคุณภาพการผลิตข้าวหอมมะลิอแกนิค โดยรัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการยกระดับราคาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน ทำ Thailand Brand ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา โดยรัฐเพื่อรับรองคุณภาพ แหล่งผลิต รวมทั้งการทำ packaging การทำการตลาด ตลอดจนการทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

มติชนออนไลน์