“ณัฏฐา” เตือนรัฐอย่าคุมตัวโดยมิชอบ-ละเมิดหลักยุติธรรม หลังกักเงียบ 2 ผู้ต้องสงสัยบึ้มกทม.

วันที่ 4 สิงหาคม 2562 เฟซบุ๊กแฟนเพจของ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมและวิทยากรอิสระ ได้โพสต์ข้อความต่อเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกทม.เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยกับเหตุการณ์จำนวน 2 คน อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ทั้ง 2 ถูกควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่ให้เข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงกระบวนการสืบสวนอันไม่เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม

น.ส.ณัฏฐากล่าวว่า

“หากปล่อยให้มีศาลเตี้ย ตุลาการจะหมดความหมาย”

ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ เมื่อมีการควบคุมตัวและสอบสวนมิชอบ (ผู้ต้องสงสัยไม่มีทนายที่ตนเลือกให้อยู่ร่วมกระบวนการ ไม่เปิดเผยที่อยู่ให้ญาติเข้าเยี่ยม หรือมีการซ้อมทรมาน) ผลของการสอบสวนจะไม่เป็นที่ยอมรับเลยในกระบวนการยุติธรรม ศาลจะไม่อาจรับฟังเพราะเป็นข้อมูลที่ได้มาโดยมิชอบจึงเชื่อถือมิได้ และเพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้มีการก่ออาชญากรรมกับผู้ต้องสงสัย อันเป็นช่องทางให้เกิด ”การทุจริต” หลายรูปแบบ

แต่นี่คือสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นหลังหมดยุค คสช. และอดีตหัวหน้า คสช. ยังคงควบคุมการบริหารหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด

** การดำเนินกระบวนการสอบสวนต้องเป็นไปโดยชอบ รัฐต้องไม่กระทำความผิดเสียเอง การปล่อยให้เกิดการละเมิดระหว่างกระบวนการ คือช่องทางสู่ความอยุติธรรม การจับแพะ การรีดไถ หรือแม้แต่ “การข่มขู่ไม่ให้สาวถึงผู้บงการที่มีอิทธิพลต่อรัฐ” **

การเอาตัวไปกักสอบในที่ที่ไม่เปิดเผย ไม่มีทนาย และญาติเข้าเยี่ยมไม่ได้ คือการบังคับสูญหายตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามรับรอง เปิดโอกาสให้เกิดการซ้อมทรมาน ข่มขู่ ล่อลวง กฎหมายทั่วโลกจึงห้ามไว้ และศาลผู้เคารพกฎหมายจะไม่รับฟังทุกอย่างที่มาจากกระบวนการแบบนี้
.
มันคือความผิด ไม่อาจมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่น หากปล่อยให้เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการทำลายความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมแล้ว สังคมจะมีข้อกังขา ไม่อาจไว้วางใจในความบริสุทธิ์ใจของรัฐ ผู้ถูกกระทำและญาติพี่น้องอาจรู้สึกเจ็บปวดโกรธแค้น หรือส่งผลให้เกิดความไม่สงบต่อไป

การดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยหน่วยงานที่ไม่เคารพหลักนิติธรรมจะไม่อาจนำประเทศกลับสู่ความเป็นนิติรัฐ หากปล่อยให้มีศาลเตี้ย ศาลจริงก็จะไร้ความหมาย เกิดเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ไร้ขื่อแป ยากจะเกิดความสงบสุข

หรือนั่นคือสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ?