“ธนาธร” นำ “อนาคตใหม่” เยือนพิษณุโลก ถกตั้งฮับโลจิสติกส์ แนะแก้โครงการซ้ำซ้อน-ดึงงบให้ท้องถิ่น

วันที่ 2 สิงหาคม 2562 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ร้าน i’coffee จ.พิษณุโลก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษานโยบายด้านคมนาคม นายไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชรายชื่อ นายปติพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 จ.พิษณุโลก ร่วมเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ศักยภาพของพิษณุโลกและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค“

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยยุคก่อน คสช. ผู้แทนฯแต่ละพื้นที่แย่งงบประมาณด้านคมนาคมกัน เนื่องจากงบมาจากส่วนกลาง การทำงานเป็นแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งการทำงานในรูปแบบนี้จะไม่สามารถกระจายงบประมาณไปครอบคลุมทุกท้องที่ได้ ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงมีแนวคิดลดโครงการที่ซ้ำซ้อน อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเรามีโครงการรถไฟทางคู่อยู่แล้ว ซึ่งจะประหยัดงบประมาณไปได้ 1.7 ล้านล้านบาท และนำงบประมาณมาพัฒนาตามหัวเมืองหลักต่างๆ กระจายรายได้ และสร้างงานสร้างอาชีพสู่ท้องถิ่น

“คนกรุงไม่สามารถเข้าใจเมืองพิษณุโลกได้ การบริหารงบประมาณและการพัฒนาด้านการคมนาคม คนในพื้นที่ควรมีสิทธิออกแบบและวางแผนพัฒนาเมือง เนื่องจากเราเป็นคนท้องที่ สามารถเข้าใจองค์ประกอบและข้อจำกัดได้ดีกว่า และจะสามารถใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายสุรเชษฐ์ กล่าว และว่า การจ้างงานจ้างรายได้ในระบบคมนาคมปัจจุบัน มีความซ้ำซ้อนกันอยู่ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงไม่มีความจำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเมือง เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงมีราคาที่แพง ประชาชนคนรากหญ้าเข้าถึงไม่ได้ จึงมองว่าเป็นการนำภาษีไปใช้เพื่อสนองคนส่วนน้อยในสังคม

ด้าน นายธนาธร ชี้ว่า ตนไม่อาจบอกได้ว่าจังหวัดพิษณุโลก ต้องพัฒนาอย่างไรถึงจะดีที่สุด เพราะไม่ใช่คนที่นี่ ความรู้ที่ดีที่สุดอยู่ที่ชุมชุน คนในพื้นที่รู้ดีกว่าตน ประชาชนต้องร่วมมือกัน ซึ่งตอนนี้บริษัทพัฒนาเมืองต่างเหลือแต่ภาคของเอกชน ซึ่งสะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐ เรามาเที่ยวพิษณุโลก ลงรถทัวร์ ลงเครื่องบิน แล้วจะไปสถานที่ท่องเที่ยวยังไงต่อ ถ้าไม่เช่ารถยนต์ เราจะไม่สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เลย เนื่องจากการขนส่งสาธารณะไม่ครอบคลุมต่อสถานที่ท่องเที่ยว ประเทศเรามี 77 จังหวัด ขอแค่รถเมล์จังหวัดละ 100 คัน คันละ 3 ล้านบาท ใช้งบแค่ 3 หมื่นล้าน เราสามารถมีระบบขนส่งสาธารณะราคาถูกและครอบคลุม หากเราไม่มีการคมนาคมสาธารณะที่ดี คนรายได้น้อยจะถูกบีบให้ซื้อรถส่วนตัว แล้วจะทำให้ต้นทุนชีวิตสูงขึ้น หากไม่มีการคมนาคมที่ดี ก็จะขาดการเข้าถึงโอกาส

ขณะที่ นายไกลก้อง กล่าวว่า ตนเรียนที่นี่ เห็นสภาพการคมนาคมและเศรษฐกิจมานาน จึงมีแนวคิดว่า ภาครัฐอย่างเช่นเทศบาล ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างแข็งขัน หลายๆพื้นที่ในจังหวัด หากเราวางผังเมืองที่ดี มีคมนาคมสาธารณะที่ดี จังหวัดพิษณุโลก จะเป็นศูนย์กลางการส่งออกได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ในการเสวนาได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมฟัง ได้ตั้งคำถาม วิจารณ์ และแลดเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร คมนาคม สังคมและการเมืองเป็นต้น